จับตาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกสหรัฐ-สหภาพยุโรป
จับตาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกสหรัฐ-สหภาพยุโรป ขณะอียูพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ห่วงโซ่คุณค่าเซมิคอนดักเตอร์กับบรรดาหุ้นส่วนในเอเชีย ในช่วงที่โรคโควิด-19ยังระบาดทั่วภูมิภาค
สหภาพยุโรป(อียู)กำลังแสวงหาความเป็นหุ้นส่วนด้านดิจิทัลรูปแบบใหม่กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ด้านการลงทุนและการค้ากับไต้หวันให้แนบแน่นยิ่งขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียหลังจากเกิดสถานการณ์วุ่นวายสับสนของกองกำลังทหารตะวันตกจากการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน
ร่างเอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของอียูที่ส่งถึงเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่าอียูพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ห่วงโซ่คุณค่าเซมิคอนดักเตอร์กับบรรดาหุ้นส่วนในเอเชีย ในช่วงที่การระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มความวิตกกังวลมากขึ้นในระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ
อย่างไรก็ตามจีน เป็นข้อกังวลหลักของอียูแม้ว่าเนื้อหาในเอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกจะเรียกร้องให้มีการ“ติดต่อในหลากหลายมิติ”กับจีนและยับยั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปักกิ่งโดยตรง นอกจากนี้ ร่างเอกสารยุทธศาสตร์ของอียูยังเตือนเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เกิดจากการอ้างสิทธิในเขตแดนและเขตการเดินเรือ อาทิ ทะเลจีนใต้ และช่องแคบไต้หวัน ว่าอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของยุโรป
“หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกำลังถูกคุกคามจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในภูมิภาค ทำให้เสถียรภาพของภูมิภาคอยู่ในจุดเสี่ยง ขณะที่ความพยายามต่างๆที่จะกำหนดกติการะดับโลกที่ยุติธรรมโดยคำนึงถึงกฏการค้าที่โปร่งใสก็ถูกบั่นทอนจากพฤติกรรมการทำการค้าที่ไม่ยุติธรรมและการใช้อำนาจบาตรใหญ่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้เพิ่มความตึงเครียดทางการค้า ระบบห่วงโซ่อุปทานและระบบห่วงโซ่คุณค่า” ร่างเอกสารยุทธศาสตร์ของอียู ระบุ
ร่างเอกสารนี้ ยังระบุว่า อียูเสนอให้มีการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อให้มีการเจรจาทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้านดิจิทัลกับรัฐบาลญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนนี้จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างกัน อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ทั้งยังเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันในด้านการกำกับดูแลข้อมูล การแชร์ข้อมูลบนพื้นฐานความไว้วางใจซึ่งกันและกันและร่วมมือกันมากขึ้นในด้านนวัตกรรมที่อยู่บนพื้่นฐานด้านข้อมูล
นอกจากนี้ อียูยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกัลบรรดาหุ้นส่วนที่อียูไม่เคยทำข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนด้วย เช่น ไต้หวัน
ลิธัวเนีย ชาติสมาชิกในอียู มีกรณีพิพาททางการทูตกับจีนกรณีที่ลิธัวเนียอนุญาตให้ตั้งสำนักงานตัวแทนของไต้หวันในเมืองหลวง สร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลปักกิ่งอย่างมาก
อียู ต้องการเจรจากับบรรดาหุ้นส่วน อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันเพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดหาเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่ประเทศต่างๆในยุโรป หลังจากยุโรปตั้งเป้าที่จะผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้าให้ได้หนึ่งในห้าของทั่วโลกภายในปี 2573
เอกสารของอียูยังแสดงความสนใจที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มQuad ในประเด็นต่างๆที่มีผลประโยชน์ร่วมกันได้ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เทคโนโลยีและวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
การเคลื่อนไหวของอียูมีขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐเตรียมจัดประชุมแบบพบกันเป็นครั้งแรกระหว่างประเทศในกลุ่ม “Quad” หรือกลุ่มภาคี 4 ประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดียในวันที่ 24 ก.ย.นี้
“เจน ซากี” โฆษกของทำเนียบขาว ระบุว่า การประชุมนี้จะจัดขึ้นที่ทำเนียบขาว มีผู้นำของประเทศสมาชิกเข้าร่วม ซึ่งได้แก่ สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย, นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังคาดว่า ผู้นำของทั้ง 3 ประเทศจะเข้าร่วมในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ที่นิวยอร์กในสัปดาห์หน้าด้วย
ซากี บอกว่า ผู้นำกลุ่ม Quad อาจเน้นหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ และเดินหน้าสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ อาทิ การต่อสู้กับโควิด-19, การแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศ, การส่งเสริมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และไซเบอร์สเปซ รวมถึงสนับสนุนการสร้างเสรีภาพและเปิดกว้างในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ที่ผ่านมา สหรัฐได้เจรจากับอินเดียอย่างต่อเนื่องทั้งในช่องทางทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และสอบถามเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการส่งออกวัคซีนอีกครั้ง
เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่ม Quad ได้จัดประชุมทางออนไลน์ โดยในการหารือครั้งนั้น บรรดาผู้นำได้ให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่หลังจากนั้น อินเดียก็เผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ส่งผลให้การส่งออกวัคซีนต้องหยุดชะงักลง
สหรัฐได้เปลี่ยนเส้นทางการจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตวัคซีนไปอินเดียในเดือนเม.ย. เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วน และการจัดหาวัคซีนทั่วโลกยังคงเผชิญกับปัญหาติดขัดด้านอุปทาน
“การจัดประชุมผู้นำกลุ่ม Quad แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของปธน.ไบเดนและรองปธน.แฮร์ริสให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงแสวงหาความร่วมมือระดับพหุภาคีใหม่ๆ เพื่อรับมือความท้าทายในศตวรรษที่ 21” ซากี ระบุ