“ยูเนสโก” ยก “ดอยเชียงดาว” พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก
“ยูเนสโก” (UNESCO) ประกาศอย่างเป็นทางการให้ “ดอยเชียงดาว” เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ชี้มีสังคมพืชเชื่อมโยงเทือกเขาหิมาลัย
เมื่อวันพุธ (15 ก.ย.) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จัดการประชุมสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme: MAB-ICC) ครั้งที่ 33 ในกรุงอาบูจาของไนจีเรีย และประกาศพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ 20 แห่งใน 21 ประเทศทั่วโลก โดยหนึ่งในนั้นคือ “ดอยเชียงดาว” จ.เชียงใหม่ ประเทศไทย
ยูเนสโกระบุว่า ความสำคัญของพื้นที่ดอยเชียงดาวที่ควรค่าต่อการเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ประกอบด้วย มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่เชื่อมโยงกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัย ทางตอนใต้ของจีน มีภูมิประเทศเขาหินปูน มีภูมิปัญญาเหมืองฝาย ตัวอย่างกลไกการจ่ายแทนคุณระบบนิเวศ ในพื้นที่บ้านปางมะโอ พื้นที่แกนกลางที่ได้รับการดูแลโดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมาเป็นเวลาอย่างน้อย 40 ปี
พื้นที่ดอยเชียงดาว ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อ.เชียงดาว และอ.เวียงแหง มีศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ โดยมีการจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เข้มข้น โดยเฉพาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาว ยอดเขาสูงที่สุดอันดับ 3 ของไทย ด้วยความสูง 2,225 เมตรจากระดับน้ำทะเล และยังมีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูน
นอกจากนี้ ดอยเชียงดาวซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 5.36 แสนไร่ เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยมีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักษ์รักษามาอย่างยาวนาน และพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี
ขณะเดียวกัน พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกได้