จับตาหนี้ "เอเวอร์แกรนด์" กระทบเศรษฐกิจจีนวงกว้าง

จับตาหนี้ "เอเวอร์แกรนด์" กระทบเศรษฐกิจจีนวงกว้าง

มีความกังวลว่า “เอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป” บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีนจะผิดนัดชำระหนี้ ขณะเดียวกันคณะกรรมการกำกับดูแลและตลาดเงินหวั่นวิตกว่า วิกฤตินี้อาจลามไปสู่ระบบธนาคารจีนแล้วกระตุ้นให้เกิดความวุ่นวายในสังคม

ต้นกำเนิดความกังวล

นักลงทุนเริ่มกังวลมาตั้งแต่เดือน ก.ย.2563 หลังจากเอเวอร์แกรนด์ตั้งใจปล่อยจดหมายฉบับหนึ่งให้หลุดออกมาว่า บริษัทวิงวอนขอแรงสนับสนุนจากรัฐบาลให้อนุมัติแผนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยอ้อม (Backdoor listing) ที่ตอนนี้ยกเลิกแผนไปแล้ว ซึ่งเอเวอร์แกรนด์กล่าวว่า จดหมายฉบับนี้ไม่ใช่ของจริง

กระนั้นความกังวลก็เข้มข้นขึ้นหลังเอเวอร์แกรนด์ยอมรับในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ไม่ได้ชำระตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นบางก้อนตรงเวลา ต่อมาในเดือน ก.ค.มีข่าวว่า ศาลจีนแห่งหนึ่งอายัดเงินฝาก 20 ล้านดอลลาร์ของบริษัทตามคำขอของธนาคารกวงฟา
 

ทั้งนี้ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเอเวอร์แกรนด์ใช้วิธีกู้ยืมเงินมากว้านซื้อที่ดิน และการรีบขายอพาร์ทเมนท์แม้ได้กำไรน้อย เพื่อเริ่มต้นวงจรใหม่ต่อไป

สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมยอดหนี้ทั้งหมดรวมถึงที่สามารถจ่ายคืนได้ของเอเวอร์แกรนด์สูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน (3.06 แสนล้านดอลลาร์) หรือราว 2% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศจีน (จีดีพี)

นอกจากมีปัญหาเรื่องการกู้เงินธนาคาร ออกตราสารหนี้แล้ว บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายนี้ยังถูกวิจารณ์เรื่องการเข้าไปยุ่งกับตลาดธนาคารเงา เช่น ทรัสต์ ผลิตภัณฑ์จัดการความมั่งคั่ง และตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น

การลดภาระหนี้สินในระบบ

ปี 2563 เอเวอร์แกรนด์พยายามลดภาระหนี้หลังธนาคารกลางจีนใช้นโยบาย “สามเส้นแดง” ควบคุมอัตราส่วนหนี้ 3 ชนิด ที่เป็นเกณฑ์ในการเข้าถึงสินเชื่อของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เอเวอร์แกรนด์ตั้งเป้าทำให้ตามเกณฑ์ครบทั้ง 3 ข้อภายในสิ้นปี 2565 ด้วยวิธีขายบ้านให้ลูกค้าในราคาลดกระหน่ำและขายอาคารพาณิชย์ชุดใหญ่ 

ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 บริษัทขายหุ้นเดิมมูลค่า 555 ล้านดอลลาร์ ระดมทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์ผ่านการนำธุรกิจจัดการอสังหาริมทรัพย์เข้าจดทะเบียนในฮ่องกง พร้อมกับขายหุ้นในธุรกิจอีวี 3.4 พันล้านดอลลาร์ให้กับนักลงทุนรายใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคาร (14 ก.ย.) เอเวอร์แกรนด์แถลงว่า แผนการขายสินทรัพย์และหุ้นไม่ได้ช่วยลดภาระหนี้อย่างเป็นรูปธรรม

ความเสี่ยงจากเอเวอร์แกรนด์

ธนาคารกลางจีนชี้เบาะแสในปี 2561 แล้วว่า หลายบริษัทรวมทั้งเอเวอร์แกรนด์อาจสร้างความเส่ี่ยงอย่างเป็นระบบต่อระบบการเงินแห่งชาติ

จดหมายที่หลุดออกมาปีก่อน ระบุว่าเอเวอร์แกรนด์เป็นหนี้ธนาคารกว่า 128 แห่ง สถาบันนอกจากธนาคารอีกกว่า 121 แห่ง สัปดาห์ก่อนเจพีมอร์แกนประเมินว่า ธนาคารหมินเจิ้งของจีนเสี่ยงกับเอเวอร์แกรนด์มากที่สุด

การจ่ายหนี้ล่าช้าอาจก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง เนื่องจากสถาบันการเงินหลายแห่งล้วนเกี่ยวข้องกับเอเวอร์แกรนด์ ทั้งการปล่อยกู้โดยตรงหรือในทางอ้อมด้วยการถือครองเครื่องมือทางการเงินนานาชนิด

ในตลาดพันธบัตรดอลลาร์ ดีบีเอสรายงานว่า เอเวอร์แกรนด์คิดเป็น 4% ของอสังหาริมทรัพย์จีนที่ให้ผลตอบแทนสูง การผิดนัดชำระหนี้จะกระตุ้นให้เกิดการเทขายในตลาดพันธบัตรผลตอบแทนสูงด้วยและหากเอเวอร์แกรนด์ล้มลงจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อตลาดงาน บริษัทมีพนักงาน 200,000 คน แต่ละปียังว่าจ้างแรงงานอีก 3.8 ล้านคนในโครงการก่อสร้าง

ปฏิบัติการนอกแผ่นดินจีน

เอเวอร์แกรนด์เป็นเจ้าของตึกสำนักงานแห่งหนึ่งในย่านหว่านไจ๋ของฮ่องกง มีโครงการที่อยู่อาศัยเสร็จแล้ว 1 โครงการที่เกือบเสร็จอีก 2 โครงการ และมีที่ดินผืนใหญ่ยังไม่ได้พัฒนาอีก 1 แปลง

นอกเหนือจากเขตเกรเตอร์ไชนา เอเวอร์แกรนด์ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ซื้อหุ้นในเทคโนโลยีรถยนต์ต่างชาติเพื่อธุรกิจยานยนต์พลังงานใหม่ของตน เช่น เอ็นอีวีเอสของสวีเดน อี-แทรคชันของเนเธอร์แลนด์และ Protean ของอังกฤษทั้งยังแยกมาตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งหนึ่งกับโฮเฟอร์อีจีของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบส่งกำลังยานยนต์ และบริษัทซูเปอร์คาร์ Koenigsegg

ความเห็นผู้กำกับดูแล

ธนาคารประชาชนจีนและคณะกรรมาธิการกำกับดูแลภาคธนาคารและประกันภัย เคยเตือนเอเวอร์แกรนด์แล้วในเดือน ส.ค.ว่า บริษัทจำเป็นต้องลดความเสี่ยงหนี้

สื่อมวลชนรายงานว่า คณะกรรมการกำกับดูแลเห็นชอบข้อเสนอของเอเวอร์แกรนด์ขอยืดเส้นตายชำระหนี้กับธนาคารและเจ้าหนี้รายอื่นๆ รัฐบาลท้องถิ่นกว่างโจวก็กำลังขอความเห็นจากบรรดาเจ้าหนี้รายใหญ่เรื่องการตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้ขึ้นมาหนึ่งชุด 

สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือทางการจีนจะปล่อยให้เจ้าหนี้เสียหายหนัก หรือรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ให้ความสำคัญกับความสงบเรียบร้อยในสังคมมีแผนเข้าแทรกแซงในทางใดทางหนึ่ง