“เอเชีย” จ่ายค่าอาหารแพงจ่อทะลุ 8 ล้านล้านดอลล์ ปี 73
รายงาน Asia Food Challenge Report ประจำปี 2564 ที่จัดทำโดย PwC, โรโบแบงก์ และเทมาเส็ก ระบุว่า ผู้บริโภคชาวเอเชียจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารมากขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2573
รายงานชี้ว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารในเอเชียจะเพิ่มขึ้นแตะระดับมากกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในต้นทศวรรษหน้า จากเดิมที่ระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562 ซึ่งจะทำให้ทวีปเอเชียเป็นตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดของโลก
"แนวโน้มดังกล่าว จะทำให้มีโอกาสอย่างมากที่บรรดานักลงทุนจะนำเสนอตัวเลือกด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความยั่งยืนมากขึ้น" รายงานระบุ
ตัวเลขดังกล่าวมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค 3,600 คนในประเทศเอเชียแปซิฟิก 12 ประเทศ รวมถึงการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมอาหาร และการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทอาหารและเครื่องดื่มกว่า 3,000 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
นายอนุช มเหศวารี กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจการเกษตรของเทมาเส็ก ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี ระบุว่า “ประชาชนต้องการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พวกเขาต้องการซื้ออาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น และซื้อทางออนไลน์ รวมถึงซื้ออาหารที่มีความยั่งยืน”
ในรายงาน ระบุว่า ผู้บริโภคอินเดียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านอาหารมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นปีละ 5.3% และ 4.7% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จีนจะยังคงครองตำแหน่งตลาดผู้บริโภคใหญ่ที่สุดในโลกโดยรวม
รายงานยังระบุว่า จะต้องมีการลงทุน 1.55 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 ทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน จะสามารถตอบสนองความต้องการด้านอาหารที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 7.5 แสนล้านดอลลาร์ จากมูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 8 แสนล้านดอลลาร์ที่รายงานประจำปี 2562 เคยระบุไว้
ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประชาชนใส่ใจสุขภาพและมีความรู้ด้านดิจิทัล ประกอบกับจำนวนประชากรในเอเชียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่า ภายในปี 2573 ทวีปเอเชียจะมีประชากร 4.5 พันล้านคน และมีชนชั้นกลางคิดเป็น 65% ของโลก