"มาร์ค กูดดิ้ง" ทูต UK "สายกรีน" หนุนคนไทย ลดคาร์บอนเหลือศูนย์
มาฟังไอเดียรับสถานการณ์โลก "มาร์ค กูดดิ้ง" เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทยคนใหม่ ลุยสานต่อความร่วมมือ และสนับสนุนไทย ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เร่งปฏิกิริยาเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนเหลือศูนย์ ท่ามกลางความท้าทายโรคโควิด-19
“มาร์ค กูดดิ้ง” เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทยคนใหม่ เปิดทำเนียบต้อนรับ "เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ" และสื่อเครือเนชั่นเป็นแห่งแรก ชวนคุยภารกิจพิชิตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตามแนวทางรัฐบาลสหราชอาณาจักร (UK) ที่ให้ความสำคัญ ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ และพร้อมสนับสนุนประเทศไทย เปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด และลดคาร์บอนเหลือศูนย์ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต
เอกอัครราชทูตกูดดิ้ง เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อกลางเดือน ก.ค. 2564 และได้ยื่นสาส์นตราตั้งฉบับสำเนาต่อกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในระหว่างนี้ กูดดิ้งได้เข้าพบผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ เพื่อสานต่อความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักร - ไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะความมั่นคงด้านสาธารณสุข ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยน และเร่งปฏิกิริยาให้ทั่วโลก เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมพลังงานสะอาด
กูดดิ้ง กล่าวว่า ขณะนี้ สภาพอากาศที่กรุงลอนดอน และเมืองต่างๆ ทั่วโลก มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง รัฐบาลสหราชอาณาจักร เห็นความสำคัญถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้
สหราชอาณาจักร ดำเนินการตามข้อเสนอแนะในรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (International Panel on Climate Change : IPCC) เป็นหน่วยงานที่วิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ปัจจุบัน พบว่า อุณหูมิโลกได้เพิ่มขึ้นแล้ว 1 องศาเซลเซียล ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศโลกแบบสุดขั้ว อย่างที่ได้เห็นมีเหตุภัยแล้ง และน้ำท่วมรุนแรง
สหราชอาณาจักร หวังจะแก้ไขปัญหานี้ ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งสหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ในเดือน พ.ย. 2564
เวที COP26 จะเป็นเวทีที่ผู้นำโลกจากหลายประเทศ รวมทั้งไทย และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคธุรกิจได้เจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ ประกาศเจตนารมณ์ และระดมความพยายามเพื่อจัดการวิกฤติ Climate Change ถือเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งในปีแห่งการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ
กูดดิ้ง เล่าว่า ในรายงานของ IPCC แสดงให้เห็นถึงความท้าทายของความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ถ้าเรายังไม่ลดการปล่อยคาร์บอน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทศวรรษหน้า หรือ 2 ปีข้างหน้า ก็จะไม่สามารถจำกัดอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียลในระยะยาว โดยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว สหราชอาณาจักรได้ตั้งเป้าหมายนี้ไว้และทำต่อเนื่อง
"ทั่วโลก จำเป็นต้องบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในกลางศตวรรษนี้ นี่คือเป้าหมายหลักของสหราชอาณาจักร และพร้อมสนับสนุนไทย ได้มีความทะเยอทะยานตั้งเป้าลดการปล่อยมลพิษ"
สหราชอาณาจักร จะช่วยเหลือประเทศต่างๆ ได้ปรับตัว เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังระดมเงินทุนประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 3.3 ล้านล้านบาท ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนารับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
สหราชอาณาจักร ประกาศหยุดใช้โรงงานไฟฟ้าถ่านหินในปี 2567 ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ทำอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี เมื่อปี 2555 ตั้งเป้า 40% ของไฟฟ้าเรามาจากพลังงานเชื้อเพลิงถ่านหิน ตอนนี้ตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงเหลือน้อยกว่า 2% นี่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น "เป็นไปได้"
ภารกิจลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องสำคัญมาก ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และเห็นว่า โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG) ของไทยที่กำลังขับเคลื่อน และกำหนดเป็นหัวข้อหลักในการประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2565 น่าสนใจมาก
BCG สามารถเป็นจุดเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักร และไทย แต่ต้องอาศัยทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนทุกด้าน รวมถึงความมั่นคงด้านสาธารณสุข
ภายใต้ความร่วมมือนี้ สองประเทศมีความร่วมมือมากมาย ทั้งวัคซีน สุขอนามัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและงานวิจัยต่างๆ
"ดังนั้น ในฐานะที่ผมเป็นเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรคนใหม่ และเพิ่งมารับหน้าที่ ทำให้ต้องกระตือรือร้น เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยรัฐ ภาคธุรกิจของอังกฤษ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ได้ร่วมมือใกล้ชิด เพราะผมคิดว่านี่เป็น อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพราะในแง่ของการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ผมคิดว่า ยังมีภาคส่วนในหลายด้านที่เราจำเป็นต้องลงทุนจริงจัง"
กูดดิ้ง บอกถึงความเป็นไปได้ที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดคาร์บอนเหลือศูนย์ โดยยกตัวอย่างที่สามารถทำในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายๆว่า
อันดับแรก พิจารณาจากการใช้พลังงานแต่ละวันของคุณ แล้วเริ่มต้นลงมือทำติดเป็นนิสัย เช่น การไม่เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ หรือการเปิดใช้เครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับสภาพอากาศจริง
ถัดมาอันดับที่ 2 ความพยายามนำขยะดีกลับมารีไซเคิล เพื่อใช้งานใหม่
และอันดับที่ 3 ใช้ระบบการขนส่งที่ยั่งยืน นอกจากจะลดภาระของคุณแล้ว ที่สำคัญยังลดคาร์บอนในกิจกรรมประจำวันด้วย
ตอนนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศในสหราชอาณาจักร ส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ และพาหนะต่างๆ สิ่งที่เราทำอย่างแรก เป็นส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษทางคาร์บอนต่ำ
ยกตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรวางแผนที่จะห้ามการจำหน่ายรถยนต์ดีเซลและเบนซินตั้งแต่ปี 2578 ดังนั้นบริษัทผลิตรถยนต์และผู้ที่ซื้อรถยนต์ ต่างรู้ดีแล้วถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
ผมคิดว่า สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ในแง่ "การลงทุนและการตลาดในอนาคต"
นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลสหราชอาณาจักร ดำเนินงานอย่างมุ่งมั่น ตามที่ประกาศไว้จะเพิ่มเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ท้าทายที่สุดในโลกให้เป็นกฎหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 78% ภายในปี 2578 และการลดคาร์บอนเหลือเป็นศูนย์ในปี 2593
เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร กล่าวยืนยันในตอนท้ายว่า สหราชอาณาจักรจะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย ทลายข้อจำกัดทุกด้าน เพื่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตที่ดีขึ้นแบบยั่งยืน