สิงคโปร์แจ้งธ.พาณิชย์แจงการลงทุนในเอเวอร์แกรนด์
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่งเข้าชี้แจงเกี่ยวกับการลงทุนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีนที่กำลังเผชิญการผิดนัดชำระหนี้ในขณะนี้
ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่ง ซึ่งได้แก่ ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ ,โอเวอร์ซี-ไชนีส แบงก์กิ้ง คอร์ป (โอซีบีซี) และยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์(ยูโอบี)ที่ต่างก็มีการดำเนินงานในจีนและฮ่องกง
ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์ได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยเงินกู้ต่อธนาคารเจ้าหนี้อย่างน้อย 2 แห่งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. และผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระวันที่ 23 ก.ย. รวมทั้งผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้วงเงิน 47.5 ล้านดอลลาร์ที่มีกำหนดชำระในวันพุธ(29 ก.ย.)ซึ่งเป็นดอกเบี้ยของหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.ปี 2567
ผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวยืนยันว่ายังคงไม่ได้รับการชำระหนี้จากบริษัทจนถึงขณะนี้ หลังจากที่ผ่านพ้นช่วงเวลาทำการในวันนี้แล้ว แม้มีข่าวว่าเอเวอร์แกรนด์สามารถขายหุ้นมูลค่า 9.99 พันล้านหยวน (1.5 พันล้านดอลลาร์) ที่ทางบริษัทถือครองอยู่ในธนาคารเสิ้งจิงให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาลจีน
อย่างไรก็ดี เอเวอร์แกรนด์ยังคงมีระยะเวลาผ่อนผันอีก 30 วันเพื่อหาทางระดมทุน ก่อนที่จะถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้
นอกจากธนาคารกลางสิงคโปร์แล้ว ธนาคารกลางฮ่องกงและธนาคารกลางสหรัฐก็แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เข้าชี้แจงเกี่ยวกับการลงทุนในเอเวอร์แกรนด์เช่นกัน
ข้อมูลจาก Morningstar Direct ระบุว่า กองทุนขนาดใหญ่ที่ได้เข้าซื้อหุ้นกู้จำนวนมากของเอเวอร์แกรนด์ ได้แก่ Fidelity Asian High-Yield Fund, UBS (Lux) BS Asian High Yield (USD), HSBC Global Investment Funds - Asia High Yield Bond X, Pimco GIS Asia High Yield Bond Fund, Blackrock BGF Asian High Yield Bond Fund และ Allianz Dynamic Asian High Yield Bond
นอกจากนี้ Ashmore Group และ BlueBay Asset ก็ได้ถือครองหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์เช่นกัน
ที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ออกแถลงการณ์ยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์มีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563
นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน หลังจากที่บริษัทได้ทำการกู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน