เอเชียเร่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์หวั่นขาดของซ้ำรอยวัคซีน
เอเชียเร่งเจรจาซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ หลังซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ทันชาติร่ำรวย ออสเตรเลียจ่อซื้อ 300,000 ชุด ด้านกรมการแพทย์เผยไทยเตรียมพร้อมเซ็นสัญญานำเข้า หากอย. สหรัฐขึ้นทะเบียน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซียกำลังเจรจาซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค
ขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังทดลองยาชนิดนี้กล่าวว่า การเปิดให้ศึกษาในประเทศอาจทำให้ฟิลิปปินส์เข้าถึงยาตัวนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งเกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ไม่มีใครเปิดเผยรายละเอียดการต่อรองซื้อยา
การเร่งสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์เกิดขึ้นหลังจากผลการทดลองทางคลินิกเมื่อวันศุกร์ (1 ต.ค.) ชี้ว่ายาอาจลดโอกาสเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ราว 50% สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอาการหนักจากโควิด-19
โดยยาออกแบบมาเพื่อทำให้รหัสพันธุกรรมไวรัสผิดเพี้ยน หากได้รับอนุมัติจะเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดรับประทานตัวแรก
ทั้งนี้ หลายประเทศในเอเชียอยากได้ยาตัวนี้มาไว้แต่เนิ่นๆ หลังจากประสบปัญหาอุปทานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปีนี้ เพราะซื้อไม่ทันประเทศที่ร่ำรวยกว่า
เมอร์คคาดว่าจะผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้ 10 ล้านคอร์สภายในสิ้นปีนี้ โดยทำสัญญาจัดหาให้รัฐบาลสหรัฐแล้ว 1.7 ล้านคอร์สในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ บริษัทมีแผนกำหนดราคายาตามเกณฑ์รายได้ของประเทศ
โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า สหภาพยุโรป (อียู) อาจทำโครงการจัดซื้อร่วมเหมือนที่เคยทำตอนซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ยังไม่มีข้อมูลเฉพาะเรื่องยาของเมอร์ค
ด้านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนี แถลง รัฐบาลจับตาการรักษาชนิดใหม่นี้ แต่ไม่ให้ความเห็นว่าเยอรมนีมีแผนสั่งซื้อยาของเมอร์คหรือไม่
วานนี้ (5 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ประกาศว่า ออสเตรเลียจะสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากบริษัทเมอร์ค แอนด์ โคเป็นจำนวน 300,000 ชุด เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการรับมือกับโควิด-19 ขณะที่ออสเตรเลียเตรียมเปิดพรมแดนการเดินทางในเดือนหน้า
“ยาโมลนูพิราเวียร์จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับไวรัสได้” นายมอร์ริสันกล่าวกับผู้สื่อข่าว โดยก่อนหน้านี้เขาได้ประกาศแผนการที่จะอนุญาตให้ชาวออสเตรเลียเดินทางไปยังต่างประเทศได้ตั้งแต่เดือนพ.ย.เป็นต้นไป สำหรับประชาชนที่มาจากรัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง หลังจากที่ปิดพรมแดนการเดินทางมายาวนานถึง 18 เดือน
ขณะนี้เมอร์คกับริดจ์แบ็ก ไบโอเทราพิวติกส์ หุ้นส่วน มีแผนยื่นขออนุมัติฉุกเฉินใช้ยาโมลนูพิราเวียร์จากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) โดยด่วน และยื่นขออนุมัติในประเทศอื่นๆ ด้วย
นายอเมส อดัลจา นักวิชาการอาวุโสศูนย์เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ กล่าวว่า ยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่ลดความเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลได้มากระดับนี้ย่อมเป็นตัวเปลี่ยนเกม
“การรักษาที่มีอยู่ยุ่งยากและมีความท้าทายด้านโลจิสติกส์ ยาเม็ดรับประทานได้ย่อมง่ายกว่า” นักวิชาการกล่าว สอดรับกับคำพูดของนายโรเบิร์ต เดวิส ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เมอร์ค ที่ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์จะเปลี่ยนวิธีการรับมือโควิด-19 ไปเลย
สำหรับการรักษาโควิดแบบอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ยาต้านไวรัสยาเรมเดซิเวียร์พัฒนาโดยบริษัท
กิลเลียดไซแอนเซสและยาสเตียรอยด์เดซาเมทาโซน ทั้งสองกรณีใช้เมื่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลแล้วเท่านั้น ด้านไฟเซอร์และโรช โฮลดิง บริษัทยาสวิตเซอร์แลนด์ก็แข่งกันพัฒนายาต้านไวรัสโควิดชนิดรับประทานเช่นกัน
ขณะนี้มีเพียงการใช้แอนติบอดีสูตรผสมผ่านทางเส้นเลือดดำเท่านั้นที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล
นายเจฟฟ์ เซียนต์ส ผู้ประสานงานรับมือโควิด-19 ของทำเนียบขาว กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์“อาจเป็นเครื่องมือเพิ่มเติมในการปกป้องประชาชน ไม่ให้ต้องเจอผลร้ายจากโควิด แต่วัคซีนยังคงเป็นเครื่องมือต้านโควิด-19 ที่ดีที่สุด”
ไทยนำเข้า"โมลนูพิราเวียร์”พย.
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามการพัฒนายารักษาโรคโควิด -19 ในหลายตัว รวมถึงยาโมลนูพิราเวียร์โดยมีการเจรจากันอยู่ตลอด ซึ่งล่าสุดผลการศึกษาระยะที่ 3 ของยานี้ได้ผลดี อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนกับเอฟดีเอสหรัฐ หากขึ้นทะเบียนแล้วก็ต้องมีการมาขึ้นทะเบียนนำเข้ายาดังกล่าวกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยด้วย อาจจะเป็นปลายเดือนต.ค. หรือต้นเดือนพ.ย.
“คาดการณ์ว่ายาโมลนูพิราเวียร์ น่าจะมาปลายเดือนพ.ย. หรือต้นเดือน ธ.ค. 2564 ส่วนเรื่องราคา ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากการเซ็นสัญญาต้องไม่เปิดเผยข้อมูลกันเอาไว้ เพราะเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการขายในแต่ละประเทศ ซึ่งไม่เท่ากันอย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางผู้ผลิตจะมีการนำยาไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยจำนวน 2 แสนคน ให้กับประเทศไทย ขณะนี้กรมการแพทย์อยู่ระหว่างการร่างสัญญาซื้อขาย คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้"นพ.สมศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ยาดังกล่าวจะใช้ในผู้ป่วยอาการน้อย อาการปานกลาง 1 คน ใช้ 40 เม็ด นาน 5 วัน เท่ากับผู้ป่วย 1 คน จะใช้ยา 40 เม็ด
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีการพัฒนายา“โมลนูพิราเวียร์” (Molnupiravir) ที่Merck เผยแพร่ผลการศึกษาระยะ 3 MOVe-OUT trial ของยา Molnupiravir ซึ่งใช้กับผู้ป่วย โควิด กลุ่มเสี่ยงสูงที่มีอาการน้อย-ปานกลางโดยผลระยะสั้น (interim result) พบว่ายาลดอัตราการป่วยหนัก ลดการนอนโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตได้ 50% Merck ประกาศจะสนับสนุนให้บริษัทอื่น นำสูตรยาไปผลิตแบบยาสามัญ (generic drug) ในประเทศตนเองได้ด้วย
สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19ในประเทศไทยนั้น จะมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ฟ้าทะลายโจรหรือยาอื่นๆ รวมถึง “ยาโมลนูพิราเวียร์”ซึ่งเป็นความหวังยาต้านไวรัสตัวแรกของทั่วโลกและของไทยที่จะใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19