ผลศึกษาฝรั่งเศสชี้ วัคซีนป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์เดลตา
ผลการศึกษาจากคนจำนวนมากในฝรั่งเศสชี้ การฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 รวมถึงสายพันธุ์เดลตา
ผลการศึกษาล่าสุดในฝรั่งเศส เน้นการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตไม่ได้เน้นเรื่องการติดเชื้อ ศึกษาจากประชากรอายุ 50 ปีขึ้นไปจำนวน 22 ล้านคน พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว 90% มีโอกาสเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตเพราะโควิดน้อย ตัวเลขนี้ยืนยันการสังเกตการณ์ในสหรัฐ สหราชอาณาจักร (ยูเค) และอิสราเอล ถือเป็นการศึกษาครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมี ในการสังเกตผลการป้องกันการเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต
อ่านข่าว : กทม.รับมอบ "รถฉีดวัคซีน"เคลื่อนที่ 6 คันจากเอกชน เร่งฉีดวัคซีนตามเป้า 70 %
นักวิจัย จาก Epi-Phare กลุ่มวิจัยอิสระด้านความปลอดภัยทางการแพทย์ ที่ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มเก็บข้อมูลในเดือน ธ.ค.2563 ตอนที่ฝรั่งเศสเริ่มฉีดวัคซีน โดยเป็นการเปรียบเทียบผลระหว่างคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว 11 ล้านคน กับคนที่ยังไม่ได้ฉีด 11 ล้านคน จับคู่กันตัวต่อตัวระหว่างคนในเขตเดียวกัน เพศเดียว อายุเท่ากัน แล้วติดตามตั้งแต่วันแรกที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ไปจนถึงวันที่ 20 ก.ค.วัคซีนที่ศึกษาได้แก่ ไฟเซอร์/ไบออนเทค, โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า ไม่รวมแจนเซนที่ได้รับอนุมัติหลังจากนั้นนานมากและใช้น้อยในฝรั่งเศส
การศึกษาพบว่า 14 วันหลังจากฉีดเข็มสอง กลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากโควิดลดลง 90% ประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตาก็ใกล้เคียงกันคุ้มครองคนอายุ 75 ปีขึ้นไปได้ 84% และ 92% สำหรับกลุ่ม 50-75 ปี
ผลการศึกษาชี้ด้วยว่า ตลอดเวลา 5 เดือนที่ศึกษา ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนต่ออาการโควิดรุนแรงไม่ได้ลดน้อยถอยลง
อย่างไรก็ตาม การประเมินนั้นอยู่บนฐานข้อมูลเพียงเดือนเดียวเท่านั้น เนื่องจากสายพันธุ์เดลตากลายเป็นสายพันธุ์หลักในฝรั่งเศสเฉพาะในเดือน มิ.ย.
นายมาห์มุด ซูเร็ก นักระบาดวิทยาหัวหน้า Epi-Phare เสนอว่า ควรติดตามผลจากเดือน ส.ค. และก.ย.ด้วย