ความยากจนหลายมิติลดทั่วโลก ไทยต่ำสุดอาเซียน
UNDP รายงาน 70 ประเทศลดระดับความยากจนหลายมิติลงอย่างชัดเจน ไทยมีระดับความยากจนหลายมิติต่ำที่สุดในอาเซียน แต่โควิด-19 แสดงถึงความเปราะบางที่มีอยู่เดิมในระบบ
ดัชนีความยากจนหลายมิติ หรือ Multidimensional Poverty Index (MPI) จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford Poverty and Human Development Initiative – OPHI) เป็นดัชนีที่ชี้วัดด้านต่าง ๆนอกจากรายได้ โดยครอบคลุมตัวชี้วัด 10 อย่างที่วัดในมิติการศึกษา สุขภาพ และคุณภาพชีวิต ซึ่งค่าดัชนีที่ต่ำลงหมายถึงระดับความยากจนที่ลดลง
การจัดทำดัชนีความยากจนหลายมิติในปี 2564 ได้รวบรวมข้อมูลจากประเทศกำลังพัฒนา 109 ประเทศ ซึ่งมีประชากร 5.9 พันล้านคน รายงานดังกล่าวได้แสดงว่า 70 ประเทศ ซึ่งมีประชากรประมาณ 5 พันล้านคน ได้ลดระดับความยากจนหลายมิติอย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อยช่วงหนึ่งในระหว่าง 20 ปีก่อนโควิด-19
จากรายงานฉบับนี้ ดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศไทยอยู่ที่ 0.002 ต่ำที่สุดในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มประเทศอาเซียนที่รวมอยู่ในการศึกษาครั้งนี้ เช่น เมียนมา (0.176) กัมพูชา (0.170) ลาว (0.108) ฟิลิปปินส์ (0.024) เวียดนาม (0.019) และอินโดนีเซีย (0.014) ดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศไทยยังต่ำกว่าค่าดัชนีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค (0.023) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม 1.3 พันล้านคน หรือร้อยละ 92 ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา ยังคงเผชิญกับความยากจนหลายมิติ
โควิด-19 และความยากจนหลายมิติทั่วโลก
แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อดัชนีความยากจนหลายมิติ การระบาดของโควิด-19 ได้เน้นถึงช่องโหว่ในระบบความคุ้มครองทางสังคมและการศึกษา ตลอดจนความเปราะบางของแรงงานทั่วโลก ซึ่งรายงานนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีช่องโหว่ดังกล่าวลึกที่สุด คือประเทศที่มีความยากจนหลายมิติในระดับสูง
ความรุนแรงของวิกฤตโควิด-19 ในประเทศที่ยากจนที่สุดของโลกนั้น ยังมีการประเมินต่ำเกินไป เนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีจำกัด ทำให้สถานการณ์นี้ไม่ได้เป็นที่สนใจในระดับนานาชาติ การศึกษานี้ยังได้กล่าวว่า ประชากรในประเทศที่ยากจนที่สุดได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล ซึ่งผลที่ตามมาต่อจากนี้จะแสดงตัวในระยะต่อไป
“การระบาดของโควิด-19 ได้ลดทอนความคืบหน้าของการพัฒนาทั่วโลก และเราก็ยังคงพยายามที่จะทำความเข้าใจถึงผลกระทบทั้งหมดของมัน” คุณอาคิม สไตเนอร์ (Achim Steiner) ผู้อำนวยการใหญ่ประจำโครงการพัฒนาเเห่งสหประชาชาติ กล่าวไว้ “ดัชนีความยากจนหลายมิติในปีนี้ได้ย้ำเตือนให้เราเห็นความจำเป็นของภาพรวมว่าคนได้รับผลกระทบจากความยากจนอย่างไร คนเหล่านั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหน ถ้าหากเราจะสร้างอนาคตไปข้างหน้าจากวิกฤตครั้งนี้ และสร้างมาตรการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
รายงานในปีนี้ได้แสดงถึงสถานการณ์ความยากจนที่ถูกซ้ำเติมโดยความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แต่เดิม เช่น ความเหลื่อมล้ำต่อกลุ่มชาติพันธุ์และผู้หญิง การวิเคราะห์ความยากจนในหลายมิติและชาติพันธุ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง ความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และสีผิวเป็นสิ่งที่ผู้วางนโยบายควรให้ความสำคัญเพื่อที่จะให้การพัฒนาหลังโควิด-19 เป็นไปอย่างยุติธรรมและทั่วถึง
ดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศไทยได้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงก่อนโควิด-19 โดยค่าดัชนีในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 0.002 นั้น มาจากผลสำรวจเมื่อปี 2562 ขณะที่ในช่วงปี 2558-2559 และ 2555 ค่าดัชนีอยู่ที่ 0.003 และ 0.005 ตามลำดับ จากการสำรวจล่าสุด พบว่า ประชากร 176,000 คน ได้ออกจากความยากจนเนื่องจากการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีขึ้น เช่น สุขอนามัย น้ำดื่ม ไฟฟ้า และที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี การเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะจำนวณปีที่เข้าเรียน และการเข้าถึงสารอาหาร ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังขาดแคลน นี่คือสิ่งที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อกลุ่มที่เปราะบางที่สุด
การใช้มุมมองหลายมิติเพื่อวิเคราะห์ปัญหาความยากจนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการมองเรื่องความยากจนให้มากกว่ามิติด้านรายได้ ความยากจนหลายมิติในไทยนั้น มีสูงกว่าความยากจนในด้านการเงิน 0.5 จุด ซึ่งชี้ว่า ถึงแม้ว่าคนจะดำรงชีวิตเหนือเส้นความยากจนทางด้านรายได้ แต่ก็อาจจะเผชิญความลำบากในด้านสุขภาพ การศึกษา และ/หรือคุณภาพชีวิต
การจัดการความยากจนในหลายมิตินั้นเป็นความท้าทาย เนื่องจากเส้นทางในการยุติปัญหาความยากจนดังกล่าวไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป และความเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลาก็ไม่เหมือนกัน ไม่มีวิธีใดที่เป็นสูตรสำเร็จ จึงต้องมีการวิเคราะห์และดำเนินการให้เกิดวิธีที่หลากหลาย นอกเหนือไปจากการเพิ่มรายได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยุติธรรมและทั่วถึง นอกจากนี้ นโยบายขจัดความยากจนอย่างละเอียดและแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงต้องมุ่งไปที่การจัดการความรุนแรงและส่วนประกอบของปัญหาความยากจนที่แตกต่างกัน นี่คือเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนนโยบายและคิดใหม่เรื่องแนวทางการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ที่ยุติธรรมและเท่าเทียม
สามารถชมรายงานฉบับเต็มและข้อมูลได้ที่ https://hdr.undp.org/en/2021-mpi และ https://ophi.org.uk/multidimensional-poverty-index/