ถอดรหัสสถาปัตยกรรม "สถานทูตสหรัฐ ประจำไทย" หลังใหม่ (มีคลิป)
"ประเทศไทย" มีบทบาทสำคัญ ในฐานะผู้นำอาเซียน และมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เช่นเดียวกับอาคารหลังใหม่ของสถานทูตสหรัฐ ได้รับการออกแบบให้เป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือสหรัฐกับไทย และอาเซียน
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงเทพมหานคร หนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐตั้งใจยกระดับให้เป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ - ไทย และเป็นสำนักงานใหญ่อันดับต้นๆในอาเซียน
สิ่งเหล่านี้ ถ่ายทอดผ่านการดีไซน์รูปทรงอาคารหลังใหม่ของสถานทูต ผสมผสานกับคอนเซ็ปต์ลดโลกร้อนได้ลงตัวอย่างไรนั้น ต้องไปฟัง "ไมเคิล ฮีธ" อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย และ "คริสโตเฟอร์ ชาร์ปเพิลส์" ผู้ก่อตั้งบริษัท SHoP Architects และสถาปนิกชื่อดังชาวอเมริกันที่ร่วมโครงการนี้
อุปทูตฮีธ เล่าว่า การก่อสร้างอาคารสถานทูตหลังใหม่ ถือเป็นก้าวสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ 2 ประเทศและความมุ่งมั่นที่สหรัฐมีต่อไทยต่อเนื่องไปในอนาคต
"การดำเนินความสัมพันธ์สหรัฐ-ไทย ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา บนพื้นฐานการสร้างความเคารพและเข้าใจผ่านการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา วัฒนธรรม การลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนปกป้องเสรีภาพและสิทธิของชาติอธิปไตยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น" อุปทูตฮีธ ระบุ
และตลอด 75 ปีที่ผ่านมา สหรัฐได้ต้อนรับเพื่อนมิตรชาวไทยหลากหลายรุ่น ทั้งจัดการประชุมและงานเฉลิมฉลองต่างๆ ณ สถานทูตของเรา บนถนนวิทยุแห่งนี้
สหรัฐมีจุดยืนที่ภาคภูมิใจ ในฐานะพันธมิตรของสนธิสัญญาต่างๆ และหุ้นส่วนทางการเมือง เมื่อประเทศไทยมีบทบาทในฐานะผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของภูมิภาค
ในความสำคัญนี้ ก็เช่นเดียวกับอาคารหลังใหม่ของสถานทูตสหรัฐที่ออกแบบให้ทันสมัย และตอกย้ำความร่วมมือกับไทย และอาเซียนที่ยกระดับในทุกมิติ รวมทั้งการปรับปรุงระบบสาธารณสุข จัดการความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ
อาคารหลังใหม่ ซึ่งจะตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมของสถานทูตสหรัฐในปัจจุบัน และได้รับพัฒนาพื้นที่สำหรับภารกิจทางการทูตและบริการด้านกงสุล เพื่อรองรับคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปยังสหรัฐ และชุมชนคนอเมริกันขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
“อาคารหลังใหม่นี้ จะเป็นที่ทำการของหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และรวมศูนย์เจ้าหน้าที่สหรัฐที่ประจำการในประเทศไทยกว่า 1,000 คน ทั้งที่รับผิดชอบงานในไทยและภูมิภาคมาไว้ ณ แห่งนี้” อุปทูตฮีธ กล่าว
ในส่วนงานดีไซน์มอบหมายบริษัท SHoP Architects ในนครนิวยอร์ก ดูแลการออกแบบทั้งตัวอาคารและพื้นที่โดยรอบบนที่ดิน 27.5 ไร่ มีมูลค่าก่อสร้าง 625 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.1 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้แรงงานท้องถิ่น 2,000 คนเพื่อสร้างงานในยุคโควิด-19
"ชาร์ปเพิลส์" สถาปนิกชื่อดังชาวอเมริกันที่ร่วมโครงการนี้ กล่าวว่า การออกแบบอาคารหลังใหม่ของสถานทูตสหรัฐให้เข้ากับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มุ่งลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้น้อยที่สุด และเน้นสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติที่อยู่รอบอาคาร บนพื้นฐานความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ
ส่วนรูปแบบอาคารและภูมิทัศน์สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมไทย ใช้โครงสร้างคล้ายชานพัก เพื่อสร้างพื้นที่พบปะที่มีร่มเงา มีลักษณะการออกแบบสไตล์ล้านนา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก “สถาปัตยกรรมไทยเดิมของภาคเหนือ”
“อาคารจะประกอบด้วยกระจกที่ปูแบบระแนง เพื่อลดสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นของกรุงเทพฯ ขณะที่ยังคงภูมิทัศน์ไว้ ท่ามกลางพื้นที่เขียวชอุ่มรอบล้อมอาคารที่เต็มไปด้วยต้นไม้ สระน้ำ และคลองที่มีอยู่ก่อนแล้วให้คงประโยชน์ใช้สอยอย่างคุ้มค่า”ชาร์ปเพิลส์ระบุ
ขณะที่อาคารแต่ละชั้นจะถูกออกแบบให้จัดวางเหลื่อมล้ำ และยื่นออกไปในทิศทางที่แตกต่างกันเพื่อบังแสงทางเข้าให้กับชั้นล่าง นี่เป็นเทคโนโลยีดีไซน์แบบกรีนบิวดิ้งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
โครงการก่อสร้างอาคารที่ทันสมัยนี้ ตั้งเป้าได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมระดับ Silver ภายใต้มาตรฐานความเป็นผู้นำด้านการออกแบบที่อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และยังลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (heat-island effect) ผสมผสานองค์ประกอบด้านการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบการบริหารจัดการน้ำฝนบนพื้นผิวและหลังคา และระบบปรับอากาศแบบแลกเปลี่ยนพลังงาน
คาดว่าการก่อสร้างอาคารจะแล้วเสร็จในปี 2568 และเพื่อเป็นการยกย่องประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงไทย และอนุรักษ์พรรณไม้รอบพื้นที่อาคารใหม่นี้ จะมีพื้นที่สีเขียวแสดงถึงความงามตามธรรมชาติของไทย ในใจกลางกรุงเทพฯ
ในตอนท้ายอุปทูตสหรัฐ กล่าวว่า การบูรณะศาลาที่มีความสำคัญ 2 หลังจะช่วยให้มีพื้นที่พบปะกันนอกอาคารมากขึ้น รวมทั้งยังแสดงความเคารพต่อประวัติศาสตร์ที่ไทยและสหรัฐมีร่วมกันด้วย