เทคโนโลยีดิจิทัล: มิตรหรือศัตรูต้านโลกร้อน

เทคโนโลยีดิจิทัล: มิตรหรือศัตรูต้านโลกร้อน

เทคโนโลยีดิจิทัลถูกพูดถึงกันมากว่าช่วยลดการใช้พลังงานได้ แต่หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าการผลิตสมาร์ทโฟนก็ต้องใช้พลังงาน แม้แต่อีเมลก็ยังปล่อยก๊าซคาร์บอน

การเสพติดอินเทอร์เน็ตของโลกหนีไม่พ้นที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วอย่างนี้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาโลกร้อนหรือจะกลายเป็นปัญหาเสียเอง

ก่อนการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 จะมีขึ้นในเดือนหน้า สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวม 5 วิธีที่เทคโนโลยีอาจช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

ในบรรดาสารพัดวาระที่จะนำมาหารือกันในเวที COP26 ประเทศต่างๆ กำลังเตรียมโรดแมพการใช้เอไอสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

เอไอทำงานโดยอาศัยการคำนวณอันซับซ้อนโดยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่ใช้พลังงานมหาศาล ข้อมูลจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์เผยว่า การฝึกฝนระบบอัลกอริทึมของเอไอตัวเดียวอาจปล่อยก๊าซคาร์บอนเกือบ 5 เท่าของรถยนต์หนึ่งคันปล่อยคาร์บอนตลอดชีพ แต่เอไอก็ช่วยให้อุตสาหกรรมหลากหลายดำเนินการแบบประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้นได้แล้ว ง่ายๆ เลยคือเอไอช่วยคำนวณชนิดที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้

บริษัทที่ปรึกษา “พีดับเบิลยูซี” ประเมินว่า หาก 4 ภาคส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ภาคเกษตรและขนส่งใช้เอไอให้มากขึ้นจะช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 4%

ปีเตอร์ คลัตตัน บร็อค ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์เพื่อเอไอและสภาพอากาศ กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่ “คำตอบสุดท้าย” ที่พลิกสถานการณ์โลกร้อน “แต่ก็เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นที่กำลังปรากฏขึ้น”

ประโยชน์ของเอไอนอกจากที่กล่าวมายังรวมถึงการใช้เอไอวิเคราะห์ข้อมูลการตัดไม้ทำลายป่าและน้ำแข็งในทะเลละลาย เพื่อคาดการณ์ได้ดีขึ้นว่าพื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบต่อไป

แอพพลิเคชันและเสิร์ชเอนจิน

คนขี้สงสัยอาจเถียงว่า แค่คนๆ เดียวไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายนักหรอก แต่คนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็มีแอพต่างๆ มาคอยตรวจตราการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินท์ของตนเอง หลายแอพประเมินการปล่อยก๊าซจากรถยนต์หนึ่งคัน หรือจากการโดยสารเครื่องบิน บางแอพเปิดให้นักช้อปสแกนสินค้าเพื่อดูข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแค่ไหน

สัปดาห์ก่อนกูเกิลประกาศปรับแต่งเครื่องมือค้นหา แสดงเส้นทางประหยัดน้ำมันที่สุดให้คนขับทราบ และบอกข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนของเที่ยวบิน

ขณะเดียวกัน เสิร์ชเอนจิน “Ecosia” ใช้กำไรที่ได้จากโฆษณามาใช้สำหรับการปลูกป่า ถึงขณะนี้ปลูกได้กว่า 135 ล้านต้นแล้ว

ทำงานทางไกล

การเปลี่ยนมาทำงานทางไกลช่วงโควิด-19 ระบาด ดีกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ นักวิจัยบอกว่า ยังไม่แน่ชัด

ปีที่แล้วเมื่อการเดินทางสัญจรลดลงมากก็ได้รับคำชมเชยว่ามีส่วนทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลกลดลงเนื่องจากประเทศส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ภาวะล็อกดาวน์ แต่การทำงานออนไลน์เท่ากับว่าอยู่บ้านก็ต้องใช้พลังงาน และในฤดูหนาวต่างคนต่างเปิดฮีทเตอร์ สิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าอยู่ออฟฟิศแล้วเปิดฮีทเตอร์เครื่องเดียวใช้ทั้งทีม

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) พบว่า ถ้าพนักงานออฟฟิศทั้งหมดอยู่บ้านสัปดาห์ละหนึ่งวัน การปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลกจะลดลง 24 ล้านตัน เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซของกรุงลอนดอนในหนึ่งปี

ส่วนพนักงานที่ต้องเดินทางด้วยรถระยะทางไกลแน่นอนว่า สามารถลดคาร์บอนฟุตปรินท์ของตนได้ด้วยการอยู่บ้าน แต่ไออีเอสรุปว่า นักเดินทางที่เดินทางวันละไม่ถึง 6 กิโลเมตร ถ้าอยู่บ้านแล้วเปิดฮีทเตอร์อาจใช้พลังงานมากกว่าการออกไปข้างนอก 

 คลาวด์คอมพิวติ้ง

กังวลกันมาหลายปีแล้วว่า ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ใช้พลังงานมหาศาลที่จำเป็นสำหรับอินเทอร์เน็ตอาจกลายเป็นตัวการใหญ่ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง แต่การศึกษาชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science ปีก่อน ชี้ว่า ที่กลัวๆ กันนั้นไม่จริง เนื่องจากประสิทธิภาพของคลาวด์คอมพิวติ้งก้าวกระโดดอย่างคาดไม่ถึง ภายในปี 2561 ศูนย์ข้อมูลคลาวด์คอมพิวติ้งยังคงใช้ไฟฟ้าเพียง 1% ของโลกเท่านั้น แม้ว่าความต้องการเก็บข้อมูลพุ่งสูงขึ้นมาก

ความต้องการลดค่าไฟของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ก็มีส่วนด้วย ตัวอย่างเช่น กูเกิล ใช้เอไอลดต้นทุนการทำความเย็นในศูนย์ข้อมูลลงได้ 40%

สมาร์ทซิตี้

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่า เมืองมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 70% ยิ่งคาดว่าประชากรจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การออกแบบเมืองประหยัดพลังงานจึงถือเป็นความสำคัญสูงสุด

อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (ไอโอที) เชื่อมโยงวัตถุเข้ากับเซนเซอร์ที่สามารถสื่อสารและตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด ถูกนำมาใช้ในการออกแบบเมืองแล้ว ตัวอย่างเช่น โครงการนำร่องในอัมสเตอร์ดัม ใช้ไอโอทีนำทางคนขับรถไปหาที่จอด ลดเวลาไม่ต้องขับรถวนทั่วเมืองเพื่อหาที่จอดสักที่ เรียกได้ว่าการออกแบบเมืองอัจฉริยะมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานได้