ปริศนา “สัญญาณคลื่นวิทยุลับ” ส่งจากใจกลางทางช้างเผือก
"นักดาราศาสตร์ชาวออสเตรเลีย" เผยพบคลื่นวิทยุลึกลับ ส่งสัญญาณมาจากใจกลางทางช้างเผือก ถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าคืออะไร
นักดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตีพิมพ์รายงานในวารสาร Astrophysical Journal ว่า ตรวจพบคลื่นวิทยุลึกลับที่ส่งสัญญาณมาจากใจกลางทางช้างเผือก แต่จนถึงขณะนี้พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบคลื่นวิทยุลึกลับโดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ CSIRO ที่รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย สำหรับคลื่นวิทยุนั้นคือสิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางที่ใช้ส่งสัญญาณไปในอากาศ สามารถส่งในระยะทางได้ทั้งใกล้และไกล มีตัวกระจายสัญญาณส่งไปยังตัวรับสัญญาณ มีช่วงความถี่ต่างๆ กันในการส่งข้อมูล เช่น การสื่อสารระยะไกลในการกระจายเสียงวิทยุระบบเอเอ็ม เอฟเอ็ม หรือการสื่อสารระยะใกล้ โดยใช้ไวไฟ และบลูทูธ
"จื่อเถิง หวัง" หัวหน้าทีมวิจัยมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย แถลงว่า ตอนแรกพวกเขาเชื่อว่าอาจจะเป็นสัญญาณที่ส่งมาจากดาวที่เรียกว่า“พัลซาร์” แต่ตรวจสอบแล้วพบว่าสัญญาณไม่ตรงกัน
“คุณสมบัติที่แปลกประหลาดที่สุดของสัญญาณใหม่นี้คือมีโพลาไรซ์สูงมาก” หวังกล่าว แสงของมันแกว่งไปในทิศทางเดียวเท่านั้น แต่ทิศทางนั้นหมุนไปตามกาลเวลา
สัญญาณวิทยุที่เรียกว่า ASKAP J173608.2-321635 ตามพิกัดเป็น สัญญาณลึกลับที่แปลกและแตกต่างไปจากที่เคยพบ สัญญาณจะกระพริบเตือนเป็นระยะ โดยมืดก่อนจากนั้นก็สว่างแล้วจางหายไป ก่อนที่จะปรากฏขึ้นอีกครั้งมันน่าประหลาดมาก
ในช่วง 9 เดือนตลอดทั้งปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ตรวจพบสัญญาณวิทยุหกครั้งจากแหล่งกำเนิด และพยายามค้นหาและตรวจสอบที่มาของคลื่นดังกล่าวแต่ไม่พบอะไรเลย
"เดวิด แคปแพลน" ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินของสหรัฐ กล่าวว่า ข้อมูลที่เรามีมีความคล้ายคลึงกันกับวัตถุลึกลับประเภทอื่นที่เรียกว่า Galactic Center Radio Transients ซึ่งรวมถึงวัตถุที่เรียกว่า ‘cosmic burper’
“ขณะที่วัตถุใหม่ที่พบ ASKAP J173608.2-321635 มีคุณสมบัติบางอย่างคล้ายกับ GCRT ก็มีความแตกต่างเช่นกัน และเราไม่เข้าใจแหล่งที่มาเหล่านั้นจริงๆ ดังนั้นสิ่งนี้มีความลึกลับมาก” แคปแพลนกล่าว
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงจับตาดูเบาะแสเพิ่มเติม ได้มีการตรวจพบแหล่งที่มาจากสัญญาณวิทยุอื่นๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา น่าซ่าได้เร่งติดตามแหล่งที่มาของคลื่นวิทยุลึกลับที่ส่งสัญญาณมายังโลกที่พบนี้ด้วย
ในจักรวาลกว้างใหญ่ไพศาล ไม่ได้มีเพียงแค่ระบบสุริยะ ยังมีระบบของดาวฤกษ์อีกนับแสนล้านดวง รวมกันอยู่เป็นระบบที่ใหญ่ขึ้นกว่าระบบสุริยะ หรือเรียกว่า กาแล็กซี (Galaxy) นั่นเองการเรียกชื่อกาแล็กซีนั้นมีชื่อและที่มาแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น
ชาวตะวันตกเรียกว่า Milky Way ที่แปลว่า “ทางน้ำนม” เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำนมที่พระเจ้าประทานให้กับพระเยซูในวันประสูติ หรือบางแห่งก็อาจมีตำนานที่แตกต่างกันออกไป
ส่วนคนไทยเราเรียกว่า “ทางช้างเผือก” ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อของคนโบราณที่เชื่อว่าช้างเผือกเป็นช้างคู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่สูงศักดิ์ ทางขาว ๆ ที่พาดผ่านบนท้องฟ้าจึงน่าจะเป็นทางเดินของช้างคู่บุญบารมี ก็คือ ทางช้างเผือกนั่นเอง
กาแล็กซีทางช้างเผือกมีขนาดประมาณ 100,000 ปีแสง และมีความหนาบริเวณใจกลางประมาณ 10,000 ปีแสง ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์นับแสนล้านดวง มีเศษฝุ่น และกลุ่มแก๊สกระจัดกระจาย โดยบริเวณใจกลางของทางช้างเผือกนักดาราศาสตร์เชื่อว่าเป็นบริเวณของหลุมดำที่ทำให้มีแรงดึงดูดมหาศาลจึงสามารถดึงมวลของวัตถุต่าง ๆ ให้อยู่รวมกันภายในกาแล็กซีได้
อย่างไรก็ตาม บริเวณใจกลางทางช้างเผือกจะมีดาวฤกษ์อยู่กันอย่างหนาแน่น รวมถึงฝุ่นและแก๊สจำนวนมาก ทำให้ฝุ่นและแก๊สเหล่านั้นกระเจิงแสงจากดาวฤกษ์ จึงสังเกตเห็นถึงความสว่างมากกว่าบริเวณโดยรอบ (บริเวณแขนกาแล็กซี) ระบบสุริยะนั้นอยู่บริเวณขอบรอบนอกของกาแล็กซีทางช้างเผือก และอยู่ห่างจากใจกลางประมาณ 28,000 ปีแสง
ที่มา : Nationtv, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ