ปล่อยกู้อย่างยั่งยืนจุดแข็งแบงก์ยักษ์อาเซียน
ปล่อยกู้อย่างยั่งยืนจุดแข็งแบงก์ยักษ์อาเซียน โดยชุมชนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังช่วยสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยด้วย
ตอนนี้ บรรดาธนาคารใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แข่งกันปล่อยสินเชื่อแก่โครงการต่างๆที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการเติบโตอย่างยั่งยืนแม้ว่าตอนนี้ตลาดการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกยังมีความระแวดระวัง หลังเกิดกรณีไชนา เอเวอร์แกรนด์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาหนี้สินมากที่สุดของโลกเพิ่งผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเกิดภาวะระส่ำระสาย
ล่าสุด วานนี้ (21ต.ค.)ราคาหุ้นไชนา เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ร่วงลงกว่า 14% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นฮ่องกงช่วงครึ่งวันเช้า หลังจากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการขายหุ้นในธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้กับบริษัทฮอปสัน ดีเวลลอปเมนท์ (Hopson Development)
เอเวอร์แกรนด์ ระงับแผนการขายหุ้นของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส กรุ๊ป ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือ มูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 50.1% ให้กับฮอปสัน ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งเป็นคู่แข่งรายเล็ก เนื่องจากฮอปสันไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเสนอซื้อหุ้นของบริษัท
ด้านฮอปสัน ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมระบุว่าบริษัทจะหาทางปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท
ปัจจุบัน เอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยสถานะทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์เริ่มสั่นคลอน หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมภาวะร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสกัดการก่อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคดังกล่าว โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขยายตัวของจีน และมีสัดส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงเกือบ 30%
ธนาคารรายใหญ่สุดของอาเซียน ที่รวมถึง ธนาคารดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ ของสิงคโปร์ ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงก์กิ้ง คอร์ป ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ (ยูโอบี) และธนาคารมาลายัน แบงก์กิ้ง ของมาเลเซีย เร่งสนับสนุนโครงการต่างๆผ่านการให้สินเชื่อบริษัทที่เน้นลงทุนโดยให้ความความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ESG (Environment, Social, Governance)
ในประเทศไทย Asia Capital Real Estate (เอซีอาร์อี)บริษัทการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ส่วนบุคคลซึ่งมีสำนักงานในนิวยอร์กและสิงคโปร์กำลังพัฒนาคอมเพล็กซ์อพาร์ทเมนท์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เช่าในจังหวัดภูเก็ต
โดยโครงการที่มีอพาร์ทเมนท์ 505 ยูนิตมีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด อาทิ มีแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆที่อยู่ในรูปแบบการประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การออกแบบอพาร์ทเมนท์ในโครงการทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี)หน่วยงานในเครือของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ซึ่งผู้จัดทำโครงการตั้งเป้าลดการใช้พลังงานและน้ำให้ได้กว่า 40% เมื่อเทียบกับอพาร์ทเมนท์ทั่วไป
โครงการนี้ได้รับเงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมจำนวน 675 ล้านบาท(20 ล้านดอลลาร์)จากยูโอบี ประเทศไทยให้นำมาใช้ในการก่อสร้าง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าธนาคารจะบันทึกและตรวจสอบการบริหารจัดการกองทุนต่างๆของผู้กู้ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าหรือการเติบโตอย่างยั่งยืนของโครงการอย่างใกล้ชิด
"ชุมชนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังช่วยสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยด้วย”แอนดี้ เชี๊ยะ กรรมการผู้อำนวยการและหัวหน้าแผนกค้าส่งของยูโอบีประเทศไทย กล่าว
ในสิงคโปร์ ซิตี้ ดิวิล็อปเมนท์ แอนด์ เอ็มซีแอล แลนด์ ประกาศเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมาว่าจะปล่อยสินเชื่อแก่2 โครงการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจำนวน 847 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (628 ล้านดอลาร์สหรัฐ)ในสิงคโปร์ในรูปแบบโครงการร่วมทุน โดยเป็นโครงการสร้างคอนโดมิเนียมที่มีห้องพักประมาณ 630 ยูนิตที่ติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อจัดหาพลังงานให้แก่ที่พักให้ได้ 30% ของการบริโภคพลังงานในพื้นที่ทั่วไป
กล่าวได้ว่าตอนนี้ กระแสปล่อยกู้แก่ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง ข้อมูลของรีฟินิทีฟ ระบุว่า การปล่อยกู้อย่างยั่งยืนของธนาคารต่างๆในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 321,400 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากระดับของปีที่แล้วกว่าสามเท่าตัวและเป็นตัวเลขการปล่อยกู้ประเภทนี้สูงสุดสำหรับครึ่งแรกของปี โดยช่วงไตรมาส2 ยอดการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับไตรมาส1ของปีนี้ และปรับตัวขึ้นสองไตรมาสติดต่อกันคิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ธนาคารรายใหญ่ในอาเซียนแข่งกันปล่อยกู้แก่โครงการที่มีเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ธุรกิจนี้ก็ยังเต็มไปด้วยโอกาสเมื่อเทียบกับธนาคารในประเทศตะวันตกอื่นๆ
ข้อมูลของรีฟินิทีฟ บ่งชี้ว่าธนาคารในยุโรปมีสัดส่วนการปล่อยกู้แก่โครงการที่เน้นสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน 45% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนธนาคารในสหรัฐมีสัดส่วน 43% ในช่วงเดียวกัน ขณะที่ธนาคารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไม่นับรวมญี่ปุ่น มีสัดส่วนการปล่อยกู้แค่ 8% เท่านั้น
ด้าน“มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” ระบุว่า บริษัทให้บริการทางการเงินทั้งหลาย สามารถรักษาคุณภาพสินเชื่อของตัวเองได้ด้วยการปรับตัวอย่างรวดเร็วไปเน้นที่ธุรกิจปล่อยกู้โครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็เตือนว่า การเร่งรัดปล่อยกู้ก้อนใหญ่ และดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปีต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อและการลงทุนด้านสินทรัพย์ได้
“บริษัทการเงินควรปล่อยกู้ ลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีใหม่ๆขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจปล่อยก๊าซคาร์บอนฯต่ำ ที่จะสร้างโอกาสทางการเงินอย่างมหาศาล”อัลกา แอนบาราซู รองประธานระดับอาวุโสของมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส กล่าว