ถอดบทเรียนโควิดสิงคโปร์ก่อน“เปิดประเทศ”

ถอดบทเรียนโควิดสิงคโปร์ก่อน“เปิดประเทศ”

ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศร่ำรวยอย่างสิงคโปร์ ทำให้หลายประเทศที่กำลังต่อกรกับไวรัสร้ายต้องอิจฉา แต่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่พุ่งทุบสถิติ กลายเป็นเครื่องเตือนใจว่าความเสี่ยงอาจยังรออยู่ข้างหน้า

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้สิงคโปร์บังคับสวมหน้ากาก ควบคุมการพบปะกันของประชาชนอย่างเข้มงวด และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นมาเดือนกว่าแล้ว แต่การติดเชื้อจากการระบาดรอบล่าสุดของสายพันธุ์เดลตาทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 280 คน จาก 55 คนเมื่อต้นเดือน ก.ย.

อเล็กซ์ คุก ผู้เชี่ยวชาญด้านตัวแบบโรค จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) เผยว่า สิงคโปร์อาจเผชิญคลื่นการระบาดอีก 2-3 ระลอก หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมมากขึ้น

“กว่าจะถึงตอนนั้น การเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกว่าผู้สูงวัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหลายคนฉีดวัคซีนแล้ว หรือมีคนฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้น” คุกกล่าวพร้อมคาดว่า การติดเชื้อระลอกปัจจุบันจะเบาบางลงเมื่อประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยจนรักษาตัวที่บ้านเองได้

อ่านข่าว : สหรัฐยกระดับเตือน สิงคโปร์เสี่ยงโควิดสูงสุด

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศทีใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ บังคับใช้มาตรการบางประการเข้มงวดที่สุดในโลกเพื่อระงับการติดเชื้อและเสียชีวิตให้ต่ำกว่าที่อื่นมาก นั่นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์รอให้ประชากรส่วนใหญ่จากทั้งหมด 5.5 ล้านคนได้รับวัคซีนครบแล้วจึงค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น

ตอนนี้สิงคโปร์ค่อยๆ เปิดประเทศขยายการเดินทางไม่ต้องกักตัวให้ 11 ประเทศ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็เริ่มทำแบบเดียวกัน ขณะที่จีนยังไม่เอาด้วย

แต่คำถามที่ทางการต้องเผชิญคือจะป้องกันไม่ให้การติดเชื้อพุ่งในกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้อย่างไร โดยเฉพาะหลังจากสายพันธุ์เดลตาที่เข้ามาในสิงคโปร์ปีนี้ กลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลก

แม้ว่าประชาชนในสิงคโปร์ 84% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ส่วนใหญ่เป็นไฟเซอร์/ไบออนเทคหรือไม่ก็โมเดอร์นา แต่วัคซีนก็อาจปกป้องกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มไม่ได้

การเสียชีวิตตลอดเดือนก่อน 30% เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปีที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อน สอดคล้องกับผลการศึกษาที่ชี้ว่า วัคซีนปกป้องคนชราและป่วยหนักได้น้อยลง

หากพิจารณาค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตรายวันต่อประชากร 1 ล้านคนในรอบ 7 วัน สิงคโปร์อยู่ที่ 1.77 สูงกว่าเพื่อนร่วมภูมิภาคอย่างญี่ปุ่นที่ 0.14 เกาหลีใต้ 0.28 และออสเตรเลีย 0.58 แต่ยังตามหลังสหรัฐที่ 4.96 และอังกฤษ 1.92 และถ้าเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมกับสัดส่วนประชากร อัตราของสิงคโปร์ยังต่ำสุดของโลกที่ 47.5 ต่อประชากรล้านคน เทียบกับบราซิลอยู่ที่ 2,825.7 สหรัฐอยู่ที่ 2,202.4

สายพันธุ์เดลตาเปลี่ยนทุกสิ่ง

หลังจากผ่อนคลายการควบคุมในเดือน ส.ค. การระบาดระลอกล่าสุดของสิงคโปร์ทำให้การติดเชื้อต่อวันในสัปดาห์นี้สูงถึงเกือบ 4,000 คน หรือสูงเกือบสามเท่าจากจุดสูงสุดเมื่อปีก่อน

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่โควิดระบาด การควบคุมที่เข้มงวดยับยั้งการติดเชื้อได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า

ประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาดูเหมือนจะลดลง แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงหมายความว่าผู้ติดเชื้อเกือบทุกรายไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย

“ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ฉีดวัคซีนเพียงไม่กี่คน ความจริงก็คือเมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ผู้คนก็จะติดโควิดกันมากขึ้น”เดล ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติกล่าว 

สัปดาห์นี้ทางการประกาศว่า สิงคโปร์จะขยายมาตรการเว้นระยะบางอย่างออกไปอีกหนึ่งเดือน เพื่อป้องกันระบบสาธารณสุขไม่ให้ตึงตัวเกินไป ตอนนี้คนอายุเกิน 12 ปีแทบไม่เหลือใครที่ยังไม่ฉีดวัคซีน รัฐบาลจึงเน้นที่การฉีดเข็มกระตุ้น ประชาชนฉีดไปกว่า 600,000 คนแล้ว โดยรัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับผู้สูงวัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ที่อายุเกิน 30 ปี

มาตรการที่ไม่ได้บังคับฉีด เช่น ห้ามคนไม่ฉีดวัคซีนเข้าห้างสรรพสินค้าหรือรับประทานอาหารนอกบ้านช่วยดันตัวเลขคนฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อสัปดาห์ก่อนได้ถึง 17,000 คน เพิ่มขึ้น 54% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

“ผมไม่คิดว่าการผ่อนคลายข้อจำกัดจะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ปัจจัยสำคัญยังอยู่ที่การเข้าถึงคนชราที่ยังไม่ฉีดวัคซีนและป้องกันกลุ่มเสี่ยง” พอล ทัมบยาห์ ประธานสมาคมจุลชีววิทยาคลินิกและการติดเชื้อเอเชียแปซิฟิกให้ความเห็น