"ทูตเยอรมัน" มองเทคโนโลยี ตัวเปลี่ยนเกมปล่อยก๊าซเป็นศูนย์

"ทูตเยอรมัน" มองเทคโนโลยี  ตัวเปลี่ยนเกมปล่อยก๊าซเป็นศูนย์

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและนโยบายด้านการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี และทำให้เกิดอุทกภัยในฤดูร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 100 ราย ถือเป็นเครื่องเตือนใจถึงผลร้ายจากสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว

“เกออร์ก ชมิดท์” เอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า เยอรมนีมุ่งผลักดันเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2588 ขณะที่กว่า 110 ประเทศรวมถึงสหภาพยุโรปมุ่งมั่นจะบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ในบรรดาประเทศทั่วโลก เยอรมนีเป็น 1 ใน 8 ประเทศที่มีเป้าหมายทะเยอทะยาน โดยภายในปี 2573 เยอรมนีตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 65% เมื่อเทียบกับปี 2533 สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง การผลิต และการบริโภคภายในประเทศ และเชื่อว่า การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 อาจกระตุ้นให้บางคนเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขาเสียใหม่

 

\"ทูตเยอรมัน\" มองเทคโนโลยี  ตัวเปลี่ยนเกมปล่อยก๊าซเป็นศูนย์

รัฐบาลเยอรมนีประกาศใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสนับสนุนประชาชนในเรื่องนี้ รวมถึงนำไปพัฒนาในด้านต่างๆ ให้ทันสมัยขึ้น เช่น เครือข่ายดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐาน

เยอรมนี ประเทศอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบที่ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอน ได้เริ่มโครงการ “Energiewende” หรือการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้บรรดาพรรคการเมืองในเยอรมันทุกพรรคได้กำหนดเป้าหมายพลังงานร่วมกัน

"การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เป็นส่วนสำคัญของนโยบายสภาพภูมิอากาศของเรา เยอรมนีกำลังเปลี่ยนระบบพลังงานของประเทศเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และไฮโดรเจนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นปล่อยคาร์บอนน้อยลง ใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และเพิ่มมูลค่าแถมสร้างงานมากขึ้น" ชมิดท์ กล่าว 

ในปี 2563 ไฟฟ้าครึ่งหนึ่งของประเทศ ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ส่วนใหญ่มาจากลมและแสงอาทิตย์ คิดเป็นสัดส่วน 50.5% และปัจจุบัน มีคนทำงานมากกว่า 300,000 คนในการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศสูงสุด 

 

\"ทูตเยอรมัน\" มองเทคโนโลยี  ตัวเปลี่ยนเกมปล่อยก๊าซเป็นศูนย์

 และสามารถเพิ่มตำแหน่งงานใหม่ได้ 270,000 ตำแหน่งในอีก 10 ปีข้างหน้า สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เกี่ยวกับการผลิตพลังงานเพียงอย่างเดียว ยังเป็นเรื่องจัดเก็บและแจกจ่ายพลังงานที่มั่นคง ปลอดภัยและประหยัดด้วย

"เยอรมันมียุทธศาสตร์ไฮโดรเจนสีเขียว ที่ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ ตอกย้ำการก้าวไปสู่พลังงานทางเลือกใหม่ ในเมื่อเราไม่สามารถทำลายฐานอุตสาหกรรมของประเทศได้ และไม่อาจทำลายโลกของเราด้วย" ชมิดท์กล่าว

และว่า ดังนั้นรัฐบาลเยอรมันชุดใหม่จะต้องเชี่ยวชาญการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ด้วยการผสมผสานแรงจูงใจที่เหมาะสม ทั้งเงินอุดหนุน การลดหย่อนภาษี การจัดซื้อที่เพิ่มขึ้น และทำให้ราคาพลังงานทางเลือกใหม่มีต้นทุนถูกลง

แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่ช่วยอะไรเลย หากเยอรมนีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่เพียงประเทศเดียว เพราะทุกประเทศมีบทบาทสำคัญ ซึ่งการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการระดมความคิดและการดำเนินการทั่วโลก เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

\"ทูตเยอรมัน\" มองเทคโนโลยี  ตัวเปลี่ยนเกมปล่อยก๊าซเป็นศูนย์

ตามที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) กล่าวไว้ มนุษย์ทุกคนมีเวลาจนถึงปี 2573 ในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกให้ได้ 45-50% หากทุกคนตั้งเป้าหมายจะจำกัดอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสจริงๆ เพราะหากทำได้ ก็จะบรรเทาภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง อุทกภัย และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 

เยอรมนี เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความกระตือรือร้นสูงสุดในโลก ที่จะสนับสนุนประเทศต่างๆ ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  

โครงการส่วนใหญ่ได้รับทุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมคุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งเยอรมนี ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) ซึ่งอนุมัติเงินทุนสำหรับโครงการด้านสภาพอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่า 750 โครงการในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2551-2563 ได้มอบทุนรวมแล้วคิดเป็นมูลค่า 4,500 ล้านยูโร

 

\"ทูตเยอรมัน\" มองเทคโนโลยี  ตัวเปลี่ยนเกมปล่อยก๊าซเป็นศูนย์

"เยอรมนี เป็นพันธมิตรด้านสภาพภูมิอากาศระดับทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดของไทยมานานกว่า 10 ปี พร้อมสนับสนุนทางการเงินคิดเป็นมูลค่ากว่า 140 ล้านยูโร เรายินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ เช่นเดียวกับความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและการจัดการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพของทรัพยากร และการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน"ชมิดท์ กล่าว

นอกจากนี้ เยอรมนี ยังให้คำแนะนำด้านนโยบายและโครงการต้นแบบต่างๆ เช่น การจัดการขยะ การป้องกันน้ำท่วม การผลิตตู้เย็นประหยัดพลังงาน หรือการทำนาข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานข้าวอย่างยั่งยืน โดยในขั้นต่อไป เยอรมนีจะมุ่งเน้นไปที่การขนส่งในเมืองที่ยั่งยืนและพลังงานหมุนเวียน

ชมิดท์ กล่าวในตอนท้ายว่า "การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานเป็นไปได้ เริ่มจากปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล อย่างผมเองก็ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าซอกแซกไปได้ทุกที่ โดยเฉพาะกรุงเทพที่มีจราจรคับคั่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้รถยนต์ เพราะที่สถานทูตยังมีรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดของบีเอ็มดับเบิลยู เชื่อผมเถอะ เมื่อคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้ว การใช้รถไฟฟ้าแบบนี้ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่ารถยนต์ หรือรถสปอร์ตเสียอีก"