"ซานริโอ" เปิดตัวการ์ตูนตัวใหม่ เจาะตลาดลูกค้าเอเชีย
“ซานริโอ” บริษัทญี่ปุ่นที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการทำตลาดตัวการ์ตูนแมวเหมียวชื่อดัง ขวัญใจหนูๆทั่วโลกอย่าง “เฮลโล คิตตี้” กำลังพัฒนาตัวการ์ตูนเพื่อทำตลาดในเอเชียโดยเฉพาะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มฐานลูกค้าของบริษัทในภูมิภาคนี้
“ไอยะ โคมากิ” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ซานริโอ เอนเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งบริหารจัดการซานริโอ พูโรแลนด์ สวนสนุกในกรุงโตเกียว ให้สัมภาษณ์นิกเคอิ เอเชียในโอกาสร่วมเวทีเสวนา นิกเคอิ โกลบอล แมเนจเมนท์ ฟอรัม ในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ว่า การชื่นชอบตัวการ์ตูนของประเทศและภูมิภาคต่างๆ จะแตกต่างกัน บริษัทจึงจะทำการตลาดหลังโรคโควิด-19 ระบาดในจีนโดยใช้ตัวการ์ตูนที่ชื่อ "Lanlanpuranrou" (หลันหลันผูหรันโหรว) ซึ่งเป็นหมูสามตัวที่เกิดในภูมิภาคนี้
ซีอีโอซานริโอ เผยถึงเหตุผลที่พัฒนาตัวการ์ตูนหมูสำหรับตลาดจีนเพราะหมูเป็นสัญลักษณ์ความมั่งคั่งในวัฒนธรรมจีนและบริษัทยังมีแผนปรับปรุงตัวการ์ตูนต่าง ๆ ตามรสนิยมของผู้บริโภคในเอเชีย เช่น ใช้ตัวการ์ตูนที่เป็นสีแดงและสีทอง ซึ่งเป็นสีที่ผู้บริโภคในเอเชียหลายประเทศชื่นชอบ และมั่นใจว่าตัวการ์ตูนนี้จะได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากหลายประเทศในเอเชีย ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
เมื่อเดือนพ.ค. บริษัทได้เริ่มโพสต์ตัวการ์ตูน Lanlanpuranrou ผ่านทางคลิปวิดีโอบนยูทูบบ้างแล้วและวางแผนจะเปิดตัวสินค้าและเสื้อผ้าของตัวการ์ตูนนี้ในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ ซานริโอ ยังมีแผนที่จะใช้ตัวการ์ตูนนำเสนอสวนสนุกของบริษัทให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆผ่านทางคลิปวิดีโอด้วยเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมก่อนที่ผู้คนจะเริ่มเดินทางท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ได้อีกครั้ง
หลังจากมีการเปิดพรมแดนให้บรรดานักท่องเที่ยว ขณะนี้บริษัทกำลังพัฒนาสินค้ารูปแบบต่างๆที่ออกแบบให้มีหน้าตาเหมือนตัวการ์ตูนที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาใหม่
ส่วนสวนสนุกของซานริโอ ทั้งฮาร์โมนีแลนด์ และซานริโอ พูโรแลนด์ ล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ธุรกิจเดินทางและท่องเที่ยวทั่วโลกปรับตัวลงอย่างรุนแรงเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทจึงตัดสินใจปิดสวนสนุกนาน 5 เดือนเมื่อปีที่แล้ว
โคมากิ กล่าวว่า ก่อนที่โรคโควิด-19 ระบาด 10% ของนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวสวนสนุกพูโรแลนด์เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แม้ว่าบรรดานักท่องเที่ยวในประเทศจะเป็นลูกค้าหลักแต่นักท่องเที่ยวจากเอเชียก็มีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่น่าสนใจให้แก่สวนสนุก ทั้งการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวแต่ละคนที่เพิ่มขึ้นและอัตราค่าภาคหลวง (Royalty) จากสินค้าต่างๆ
ซีอีโอซานริโอ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้บริโภคในเอเชียมีความเข้าใจในความน่ารักของตัวการ์ตูนญี่ปุ่นมากกว่า เมื่อเทียบกับผู้บริโภคชาติตะวันตก อย่างสหรัฐ และออสเตรเลีย และมีความตั้งใจที่จะแชร์ประสบการณ์ของตัวเองผ่านทางสื่อโซเชียลมากกว่าด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเปิดพรมแดนนั้น แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะเปิดพรมแดนรับนักเดินทางเพื่อทำธุรกิจและนักเรียนเมื่อไม่นานมานี้ แต่ยังคงไม่เปิดประเทศต้อนรับบรรดานักท่องเที่ยวจากต่างชาติ
การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ยอดขายโดยรวมของซานริโอในปีงบการเงินซึ่งสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2563 ปรับตัวร่วงลง 7% ไปอยู่ที่ 55,200 ล้านเยน (525 ล้านดอลลาร์) และกำไรจากการดำเนินงานลดลง 56% อยู่ที่ 2,100 ล้านเยน
จากการที่สวนสนุกพูโรแลนด์ยังคงจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ผลประกอบการของสวนสนถกในปีนี้น่าจะไม่สดใส ซึ่งเรื่องนี้เป็นความท้าทายของเหล่าผู้บริหารระดับสูงของซานริโอ รวมถึงประธานคนใหม่ที่ต้องหาทางสร้างรายได้ให้บริษัทให้ได้ตามเป้า โดยไม่ได้พึ่งพาแต่รายได้ค่าลิขสิทธิ์จากตัวการ์ตูนแมวเหมียวอย่างเฮลโล คิตตี้อย่างเดียวเท่านั้น
ซานริโอ ตั้งธุรกิจบันเทิงเมื่อเดือนเม.ย. ซึ่งธุรกิจนี้จะทำงานร่วมกับแผนกการตลาดและหน่วยงานอื่นๆในเครือเพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ออกมา
นอกจากเปิดตัวการ์ตูนหมูเพื่อเอาใจผู้บริโภคในจีนแล้ว ซานริโอยังโปรโมทตัวการ์ตูน “Aggretsuko” ที่ร่วมกันผลิตกับเน็ตฟลิกซ์ โดยเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันก่อนในซีซันแรกๆ จากนั้นจึงออนแอร์ซีซัน3ทั่วโลกในช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
ในช่วงที่สวนสนุกพูโรแลนด์ปิดเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยงานย่อยของซานริโอ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ปรับตัวด้วยการเสนอบริการวิดีโอคอลล์กับเหล่าตัวการ์ตูนของบริษัท โดยคิดค่าบริการ 4,000 เยน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการพบปะกับตัวการ์ตูนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก