วัคซีนโควิด-19กับปมทรัพย์สินทางปัญญา
วัคซีนโควิด-19กับปมทรัพย์สินทางปัญญา ขณะข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในปี 2564 สูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปี 2563 แสดงว่าภัยคุกคามของเชื้อไวรัสชนิดนี้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
องค์กรสิทธิมนุษยชน 15 องค์กรรวมตัวกันที่องค์กรการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ร่วมสนับสนุนการผลักดันให้งดเว้นการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาแก่วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ฮิวแมน ไรท์ส วอช, ออกซ์แฟม, พับลิค ซิติเซ่น และองค์กรสิทธิมนุษยชนอีก 11 องค์กร ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีไบเดน โดยระบุว่า การงดเว้นการจดสิทธิบัตรดังกล่าวถือเป็นวาระเร่งด่วนที่จะช่วยขยายโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ มีศักยภาพในการต่อสู้กับโควิด-19 เนื่องจากในกลุ่มประเทศยากจนนั้น มีประชาชนเพียงไม่ถึง 7% ที่ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว ขณะปัญหาการขาดแคลนวัคซีนในหลายประเทศยังไม่หมดไป
จดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า องค์กรต่าง ๆ รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังในการผลักดันการงดเว้นการจดสิทธิบัตร หลังจากที่เคยให้คำมั่นไว้เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา
“การเพิกเฉยของสหรัฐส่งผลให้ชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดอย่างสหภาพยุโรป (อียู) ในนามของเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ปฏิเสธแนวทางดังกล่าว แม้ว่าคนนับล้านจะเสียชีวิตหรือป่วยหนักเพราะต้องรอคอยวัคซีนและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ”
ด้าน Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุด ที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกสะสมมีจำนวน 258 ล้านราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 5.15 ล้านราย
สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (48,399,818) รองลงมาคืออินเดีย (34,489,623) บราซิล (21,989,962) ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 9 ล้านราย ได้แก่ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 8 ล้านราย ได้แก่ ตุรกี
ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 7 ล้านราย ได้แก่ ฝรั่งเศส ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 6 ล้านราย ได้แก่ อิหร่าน
ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 ล้านราย ได้แก่ อาร์เจนตินา เยอรมนี สเปน โคลอมเบีย ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 4 ล้านราย ได้แก่ อิตาลี อินโดนีเซีย
ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 3 ล้านราย ได้แก่ เม็กซิโก ยูเครน โปแลนด์ ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 ล้านราย ได้แก่ แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ เปรู อิรัก ไทย ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ล้านราย ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก แคนาดา โรมาเนีย ชิลี ญี่ปุ่น บังกลาเทศ เบลเยียม อิสราเอล ปากีสถาน เซอร์เบีย สวีเดน โปรตุเกส เวียดนาม ออสเตรีย
นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (789,164) ตามมาด้วยบราซิล (612,177) อินเดีย (465,082)
ประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 แสนราย ได้แก่ เม็กซิโก รัสเซีย เปรู
ส่วนประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 แสนราย ได้แก่ สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย อิตาลี อิหร่าน โคลอมเบีย ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา
ด้านหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานโดยอ้างข้อมูลจากรัฐบาลกลางสหรัฐและมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในปี 2564 ในสหรัฐสูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปี 2563 แล้ว แสดงว่าภัยคุกคามของเชื้อไวรัสชนิดนี้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา อินเดีย เป็นแกนนำในการต่อสู้ภายในองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เพื่อเปิดทางให้มีบริษัทยาจำนวนมากขึ้นสามารถผลิตวัคซีนได้ ซึ่งแน่นอนว่าความเคลื่อนไหวของอินเดียถูกบริษัทยายักษ์ใหญ่คัดค้าน
ด้าน“แคทเธอรีน ไท่” ผู้แทนการค้าของสหรัฐ บอกว่า แม้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของภาคธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ แต่รัฐบาลวอชิงตัน ก็สนับสนุนการละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองวัคซีนโควิด-19 เพื่อยุติการระบาดใหญ่ของโรคนี้ นี่คือวิกฤตสาธารณสุขโลก และกรณีแวดล้อมพิเศษของโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ที่จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษเช่นกัน
แต่ไท่ ก็แสดงความคิดเห็นอย่างระมัดระวัง โดยบอกว่าการเจรจาเรื่องนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร ตามลักษณะพื้นฐานความเห็นที่ต้องเป็นเอกฉันท์ขององค์การการค้าโลกและเป้าหมายเป็นการทำเพื่อให้ประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไบเดน ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักหน่วงให้ละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองบรรดาผู้ผลิตวัคซีน โดยเฉพาะท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า ประเทศร่ำรวยกำลังกักตุนวัคซีนโควิด-19
"ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส"ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)เรียกการเคลื่อนไหวของสหรัฐว่าเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นช่วงเวลาสำคัญในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
เป็นเวลานานหลายเดือนแล้วที่ดับเบิลยูทีโอเผชิญเสียงเรียกร้องให้ละเว้นคุ้มครองสิทธิทางปัญญาวัคซีนโควิด-19 ในข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า หรือที่เรีกว่าข้อตกลง TRIPS
แนวคิดนี้ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากบรรดาผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่และบรรดาประเทศที่ตั้งของพวกเขา ซึ่งยืนกรานว่าสิทธิบัตรไม่ใช่ตัวกีดขวางหลักในการยกระดับกำลังผลิต แถมยังเตือนด้วยว่า ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้้อาจกระทบต่อนวัตกรรมใหม่ๆ
“การละเว้นเป็นเรื่องง่าย แต่เป็นคำตอบที่ผิดในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน” สมาพันธ์ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์นานาชาติและสมาคมกลุ่มล็อบบี้ระบุ