รู้จักบาร์เบโดส สาธารณรัฐน้องใหม่ไร้เงาราชวงศ์อังกฤษ
บาร์เบโดส เตรียมสถาปนาสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศแทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ
เย็นวันจันทร์ (29 พ.ย.) ถึงวันอังคาร (30 พ.ย.) บาร์เบโดส ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องชายหาดงามและคลั่งไคล้คริกเก็ตจะทำพิธีเฉลิมฉลองสถาปนาเป็นสาธารณรัฐ ประมุขของรัฐจะเปลี่ยนจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษเป็นนางแซนดรา เมสัน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนปัจจุบัน ซึ่งเธอจะสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐบาร์เบโดส โดยมีเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษทรงเข้าร่วมพิธีด้วย
บาร์เบโดส ประเทศเกาะในทะเลแคริบเบียน มีประชากร 285,000 คน อยู่ใต้อิทธิพลของอังกฤษมาหลายร้อยปี ถูกปกครองเยี่ยงทาสมากว่า 200 ปีจนถึงปี 1834 (พ.ศ.2377) จนสุดท้ายได้เอกราชในปี 1966 (พ.ศ.2509) เมื่อถึงคราวต้องเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทำให้เกิดการโต้เถียงกันมากในหมู่ประชาชน
“ตอนเป็นเด็ก เมื่อได้ยินใครพูดถึงควีน ฉันตื่นเต้นมาก” ชารอน เบลลามี ทอมป์สัน แม่ค้าปลาวัย 50 ปี ในกรุงบริดจ์ทาวน์ กล่าวย้อนความหลังครั้งวัย 8 ขวบสมัยที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จเยือนบาร์เบโดส
“แต่เมื่อฉันโตขึ้นก็เริ่มสงสัยว่าควีนมีไว้ทำไม ทั้งต่อตัวฉันและประเทศชาติ ไม่เห็นจะมีสาระ การมีประธานาธิบดีหญิงชาวบาร์เบโดสจะดีกว่ามาก” ทอมป์สันกล่าวเสริม
ในมุมของนักเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่อย่าง ฟิรานา บุลบูเลียผู้ก่อตั้งสมาคมมุสลิมบาร์เบโดส มองว่า ความเหลื่อมล้ำในยุคสมัยใหม่ของบาร์เบโดส เป็นผลจากการปกครองเยี่ยงทาสยุคอาณานิคม
“ความเหลื่อมล้ำทั้งฐานะ การถือครองที่ดิน แม้แต่การเข้าถึงสินเชื่อธนาคาร ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอันเกิดจากการปกครองของอังกฤษทั้งสิ้น โซ่ล่ามทาสที่แท้จริงได้พังทลายลงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องสวมมันอีก แต่โซ่ล่ามใจนี่สิยังคงอยู่กับพวกเรา” นักเคลื่อนไหววัย 26 ปีย้ำ
เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บาร์เบโดสเลือกตั้งเมสันเป็นประธานาธิบดีคนแรก หนึ่งปีหลังจากนายกรัฐมนตรีมีอา มอตลีย์ ประกาศว่าประเทศจะออกจากความเป็นอาณานิคมในอดีตเต็มตัว แต่ชาวบาร์เบโดสบางคนโต้แย้งว่าประเทศชาติมีปัญหาสำคัญมากกว่านี้รอแก้ไข เช่น เศรษฐกิจปั่นป่วนเพราะโควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งย้อนแย้งในแง่ที่ว่าต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวอังกฤษเป็นหลัก
บิชอบโจเซฟ อาเทอร์ลี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า งานเฉลิมฉลองในสัปดาห์นี้ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นบุคคลสำคัญไม่ใช่ประชาชนทั่วไป
“ผมไม่คิดว่าเราจะได้รับการชื่นชมกับการจัดงานที่ประชาชนเข้าไม่ได้ ต้องอยู่บ้านชมงานทางทีวีแทน ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูง ความตึงเครียด ความหวาดกลัวที่เพิ่มสูง นี่ไม่ใช่เวลาเหมาะสม”
นักวิจารณ์บางคนจี้ประเด็นที่มอตลีย์เชิญเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์มาเป็นแขกผู้มีเกียรติ และถวายเหรียญตรา the Order of Freedom of Barbados ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดของประเทศให้พระองค์
“ราชวงศ์อังกฤษเป็นต้นตอของการขูดรีดขูดเนื้อในภูมิภาคนี้ และพวกเขาไม่เคยขอโทษอย่างเป็นทางการ หรือไม่เคยแก้ไขความรุนแรงในอดีตใดๆ เลยแล้วทำไมคนในราชวงศ์อังกฤษถึงได้รับเหรียญตรา ฉันไม่เข้าใจ” คริสตินา ฮินด์ส อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเวสต์อินดีส์ในบาร์เบโดสให้ความเห็น
ปีก่อนด้วยแรงหนุนจากขบวนการ Black Lives Matter ทั่วโลก นักกิจกรรมรื้อถอนอนุสาวรีย์ลอร์ดโฮราชิโอ เนลสันของอังกฤษ ที่ตั้งอยู่ ณ ลานวีรบุรุษแห่งชาติมาร่วม 200 ปีได้สำเร็จ และหลายคนมองต่อไปว่า การตัดขาดไม่ยอมรับควีนเป็นประมุขเป็นขั้นตอนจำเป็นเพื่อนำไปสู่การเรียกเงินชดเชย ผลพวงจากประวัติศาสตร์สมัยที่อังกฤษนำทาสจากแอฟริกาไปทำงานในไร่น้ำตาล
สำหรับชาวบาร์เบโดสหลายคน การมีประธานาธิบดีเป็นไปตามความรู้สึกของชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“ฉันคิดว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง เปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ เพราะเราเป็นเอกราชมาตั้ง 55 ปีแล้ว นานพอที่จะยืนบนขาของตัวเองได้แล้วฉันคาดว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นภายใต้ระบบใหม่ ไม่มีเหตุผลเลยที่เป็นเอกราชแล้วยังต้องมีกษัตริย์ ฉันเชื่อมั่นมากว่าการเป็นสาธารณรัฐคือคำตอบ” เดอร์รี เบลีย์ เจ้าของธุรกิจเตียงชายหาดและกีฬาทางน้ำ วัย 33 ปีกล่าว