“สนธิสัญญาโรคระบาดใหญ่”จุดเริ่มต้นโลกรับมือวิกฤต

“สนธิสัญญาโรคระบาดใหญ่”จุดเริ่มต้นโลกรับมือวิกฤต

“สนธิสัญญาโรคระบาดใหญ่”จุดเริ่มต้นโลกรับมือวิกฤต โดยอียูและอีก 70 ประเทศต้องการให้มีการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยมีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สหรัฐ บราซิล และอินเดียไม่เห็นด้วย

รัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สนับสนุนความพยายามต่างๆขององค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ)ที่ต้องการทำข้อตกลงใหม่ระดับโลกในการเตรียมความพร้อมและตอบสนองการระบาดใหญ่ของโรคระบาดในอนาคต

“สหรัฐมีพันธกิจที่จะต้องทำงานร่วมกับบรรดาประเทศสมาชิกดับเบิลยูเอชโอเพื่อผลักดันข้อเสนอแนะต่างๆของคณะทำงานด้านการเตรียมความพร้อมและตอบสนองการระบาดของโรคระบาดใหญ่ ที่ครอบคลุมถึง การพัฒนาข้อตกลงใหม่ของดับเบิลยูเอชโอ หรือเครื่องมือระหว่างประเทศอื่นๆ และการทำข้อตกลงเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของกฏระเบียบด้านสุขภาพระหว่างประเทศ”เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวระบุ

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาตัวแทนของประเทศสมาชิกดับเบิลยูเอชโอ ซึ่งประชุมฉุกเฉินร่วมกัน เห็นพ้องเกี่ยวกับร่างเนื้อหาของข้อตกลงระดับโลก ที่จะนำมาใช้เพื่อรับมือและป้องกันโรคระบาดใหญ่ครั้งต่อไป

ความตกลงระหว่างประเทศนี้ แม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่ก็ถือเป็นการยินยอมผ่อนปรนระหว่างจุดยืนและข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป (อียู)และประเทศต่างๆ กับของฝ่ายสหรัฐ

ข้อตกลงระหว่างประเทศระดับโลกนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ประเทศทั้งหลายสามารถรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในลักษณะของโควิด-19 ได้ดีขึ้น เพราะสำหรับกรณีของโควิด-19 นั้นผู้เชี่ยวชาญเตือนหลายครั้งแล้วว่าจะไม่มีใครที่ปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย

ข้อตกลง ซึ่งกำลังมีการเจรจานี้มุ่งจะแก้ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นบทเรียนจากโควิด-19 เช่น การปรับปรุงมาตรการป้องกันและการรับมือกับการระบาด การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับจีโนมของไวรัสที่กลายพันธุ์ รวมทั้งการแจกจ่ายวัคซีนและยาใหม่ๆ ซึ่งได้จากการวิจัย

ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอนกระตุ้นให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกันรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขที่เกิดขึ้น 

นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า "ยังคงมีคำถามอีกมากมาย เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโอมิครอน ที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเร่งศึกษาหาคำตอบ

โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงของไวรัสกลายพันธุ์นี้ และผลกระทบต่อวัคซีนทุกแบบ แม้มีความเสี่ยงสูงมาก ที่เชื้อโรคตัวนี้จะเพิ่มอัตราการแพร่ระบาด แต่จนถึงตอนนี้ ดับเบิลยูเอชโอยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ ว่ามีผู้ป่วยในประเทศใดเสียชีวิตจากโควิดโอมิครอน"

“ไซมอน แมนลีย์” ตัวแทนจากประเทศอังกฤษ ซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ที่นครเจนีวา ระบุว่า การตัดสินใจที่จะจัดทำโครงสร้างและความตกลงระดับโลกเพื่อรับมือกับโรคระบาดใหญ่ที่ว่านี้แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแต่ก็เป็นเรื่องดีที่ประเทศสมาชิกได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความสนับสนุนต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว 

ทั้งนี้ อังกฤษ  อียู รวมทั้งประเทศอื่นๆ อีกประมาณ 70 ประเทศต้องการให้มีการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยมีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สหรัฐ บราซิล และอินเดียยังไม่เห็นด้วยเรื่องกลไกทางกฎหมายของข้อตกลงนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนับสนุนการจัดทำสนธิสัญญาโรคระบาดใหญ่ หรือ pandemic treaty ชี้ว่ากลไกด้านกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำสองแล้ว ยังจะเป็นผลให้มีโครงสร้างระดับโลกเพื่อช่วยระบุภัยคุกคามด้านสาธารณสุขได้ด้วยการกำหนดให้แต่ละประเทศมีระบบเฝ้าระวัง และติดตามโรคเพื่อระบุเชื้อที่กลายพันธุ์ รวมทั้งเพื่อรับประกันเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนและยาให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการด้วย

ถึงแม้ประเทศสมาชิกของดับเบิลยูเอชโอจะเห็นพ้องกันเรื่องความจำเป็นของการมีกลไกระดับโลกที่ว่านี้แต่ก็คาดว่าการเจรจารายละเอียดของข้อตกลงคงต้องใช้เวลาหลายปี และเชื่อว่าจะมีผลบังคับใช้หลังจากที่การระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว โดยคาดกันว่าน่าจะมีการเจรจาข้อตกลงเสร็จสิ้นภายในเดือนพ.ค.ปี 2567

 ด้านนักการทูต ซึ่งเป็นตัวแทนสมาชิกประเทศหนึ่งของดับเบิลยูเอชโอ ให้ความเห็นว่า การบรรลุฉันทามติในขั้นต้นเกี่ยวกับแผนระดับโลกเพื่อรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในอนาคตนี้ เป็นเรื่องที่ดี ที่สะท้อนถึงความตั้งใจของประชาคมโลกที่จะทำงานร่วมกัน

ส่วน"ซาเวียร์ เบเซอร์รา”เลขาธิการสำนักงาน Health and Human Services ของสหรัฐ กล่าวว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งแล้วครั้งเล่าเตือนให้เราตระหนักเสมอว่าโรคระบาดนี้ไม่หายไปได้ง่ายๆและเราต้องร่วมมือกันรับมือ

ขณะที่รายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ค ระบุว่า ระยะเวลากว่า 22 เดือนของการระบาดของโรคโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกยังคงต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตอบสนองการระบาดของโรคร้ายนี้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ แต่การให้คำมั่นสัญญา และการทำพันธกิจด้านต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ส่วนใหญ่ยังคงไม่บรรลุผล

รวมถึง การตั้งเป้าฉีดวัคซีนประชาชนให้ได้ 40% ในทุกประเทศ ภายในปลายปี 2564 และฉีดให้ได้ 70% ภายในช่วงกลางปี 2565

นอกจากนี้ บรรดาประเทศที่มีความเสี่ยงยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19เพิ่มอีก 650 ล้านโดส ผ่านโครงการโคแว็กซ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างระหว่างองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี ดับเบิลยูเอชโอ และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (ซีอีพีไอ)