หนังเล่าโลก Morin Khuur (The Horsehead Fiddle) หลากมุมชีวิตมองโกเลีย

หนังเล่าโลก Morin Khuur (The Horsehead Fiddle)  หลากมุมชีวิตมองโกเลีย

ไม่บ่อยนักที่คนไทยจะได้ชมภาพยนตร์จากประเทศสาธารณรัฐมองโกเลีย ที่สถาปนาทางการทูตกับไทยตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.2517 แต่คนไทยยังรู้จักประเทศนี้น้อยมาก

อย่างไรก็ตามในเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานครปี 2564 มีการฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง Morin Khuur (The Horsehead Fiddle) พร้อมการสนทนาแนะนำอุตสาหกรรมภาพยนตร์ประเทศมองโกเลีย ถือเป็นการเปิดมุมมองให้ผู้ชมชาวไทยมากขึ้น 

 

ข้อมูลจากเพจ Bangkok ASEAN Film Festival ภาพยนตร์เรื่อง Morin Khuur (The Horsehead Fiddle) เป็นผลงานปี 2564  ของผู้กำกับ Joshua Sternlicht บอกเล่าเรื่องราวของบาตูและดอฟชิน สองเพื่อนผู้ผูกพันกับม้าตามวิถีมองโกเลีย แต่แล้วชุมชนเร่ร่อนของพวกเขาต้องประสบปัญหาสภาพแวดล้อมขาดแคลนน้ำอย่างฉับพลัน ม้าเองก็ต้องล้มป่วยจากขยะพลาสติก สุดท้ายแล้วเพื่อนรักก็ต้องแก้ปัญหาแตกต่างกันอออกไป  บาตู ตัวเอกผู้ยึดในขนบธรรมเนียมและอยู่กับความเป็นจริงเสนอให้ขุดบ่อน้ำใหม่เหมือนที่เคยทำมา ส่วนดอฟชินเพื่อนของเขาชี้ถึงผลกระทบอันเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการดำรงชีวิต เขาต้องการวิธีคิดที่ต่างออกไปเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ในที่สุดครอบครัวของดอฟชินก็ต้องย้ายออกไปเมื่อได้รับข้อเสนอให้ทำงานในเมือง แต่ก่อนจากไปดอฟชินได้สร้างของขวัญจากซากม้าที่เคยผูกพันพวกเขาไว้ด้วยกันมอบให้แก่บาตู

ดูจบต้องยอมรับว่าเป็นหนังที่บ่งบอกบุคลิกแห่งมองโกเลียจริงๆ เรื่องนี้ต้องฟังจากปากคำของ ทูมูร์ อามาร์ซานา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐมองโกเลียประจำประเทศไทย ผู้ร่วมเสวนาเรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์มองโกเลียที่ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น 

“หนังบอกเล่าชีวิตคนมองโกเลียหลากหลายประเด็นรวมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม มองโกเลียมีประชากร 5 ล้านคน พื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทย ประชากรครึ่งหนึ่งอยู่ในเมือง อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในทุ่งหญ้า เจอปัญหาสิ่งแวดล้อม ขาดแคลนน้ำ พื้นที่เป็นทะเลทรายมากขึ้น ส่งผลกระทบไปถึงปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว หนังเล่าทุกอย่างครบภายในเวลา 20 นาที คนมองโกเลียผูกพันกับม้าและสัตว์ หนังเรื่องนี้เป็นการเชื่อมโยงระหว่างคน ธรรมชาติ ปศุสัตว์" ทูตอามาร์ซานากล่าว

ภาณุ อารี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าเสริมว่า เมื่อราวปี 2548 เคยมีภาพยนตร์มองโกเลียเรื่อง The Story of the Weeping Camel มาฉายในกรุงเทพฯ ได้รับการตอบรับจากผู้ชมมากเกินคาด ในปัจจุบันภาพยนตร์มองโกเลียในตลาดต่างประเทศได้รับการแนะนำค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ถูกขายโดยตัวแทนต่างประเทศ 

"อย่างสหมงคลฟิล์มโอกาสจะได้เจอหนังมองโกเลียต้องไปเจอตามตลาดภาพยนตร์ที่บริษัทยุโรปจัดจำหน่ายให้ เราก็จะได้หนังมองโกเลียประเภทนึงมา อย่าง The Story of the Weeping Camel ก็จะสะท้อนภาพมองโกเลียแบบที่เราเคยเห็นในหนังสือ หรือเคยดูในหนังจีน” ภาณุกล่าวและว่า จริงๆ แล้วมองโกเลียผลิตภาพยนตร์จำนวนมาก หลายเรื่องพูดถึงประเด็นร่วม เช่น วัยรุ่น อาชญากรรม ซึ่งบริษัทจัดซื้อภาพยนตร์ไม่ค่อยได้เห็น นับว่าน่าเสียดาย ตนเห็นสอดคล้องกับสิ่งที่ท่านทูตเสนอเรื่องการจัดเทศกาลภาพยนตร์หรือการนำภาพยนตร์จากมองโกเลียมาให้คนไทยได้รู้จักก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทรับซื้อภาพยนตร์อย่างสหมงคลฟิล์ม จะได้เห็นภาพยนตร์มองโกเลียที่ไม่ได้คัดสรรจากบริษัทยุโรปหรือสหรัฐมากขึ้น และมีโอกาสทำให้ภาพยนตร์มองโกเลียแบบมองโกเลียจริงๆ ฉายในเมืองไทยได้ 

ฟังความเห็นจากทูตและตัวแทนบริษัทภาพยนตร์แล้วเห็นได้ว่า ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสื่อสารด้านวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพเครื่องมือหนึ่ง   ได้ยินมาว่าปีหน้าจะมีการแลกเปลี่ยนนำภาพยนตร์ไปฉายในสองประเทศมากขึ้น ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้คนจะได้รู้จักความเป็นตัวตนของกันละกันผ่านภาพยนตร์ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจต่อไป 

(ภาพประกอบจาก filmfreeway.com)