เปิดแนวคิดทำงาน 4 วัน แก้ปัญหาญี่ปุ่นครบวงจร
รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งเผยคู่มือนโยบายเศรษฐกิจประจำปี รวมถึงข้อแนะนำใหม่ที่ว่า บริษัทอนุญาตให้พนักงานเลือกทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ได้แทนที่จะทำงานห้าวันตามปกติ
เว็บไซต์ดีดับเบิลยูของเยอรมนีรายงานว่า ญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อเรื่องมนุษย์เงินเดือนชายทำงานหนักมาก และผู้หญิงกำลังเป็นมนุษย์เงินเดือนเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงมีโครงการริเริ่มให้ปรับสมดุลชีวิตและงานลดชั่วโมงการทำงานลง
คู่มือนโยบายเศรษฐกิจประจำปีที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงข้อแนะนำชุดใหม่ให้บริษัทอนุญาตให้พนักงานเลือกทำงานสี่วันได้ หลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การทำงานของบริษัทญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล กระนั้นยังมีอีกหลายบริษัทที่ยึดติดกับขนบเดิมๆ สูงมาก
ตอนนี้ผู้นำภาคการเมืองมีความหวังจูงใจให้ฝ่ายจัดการใช้ชั่วโมงการทำงานแบบยืดหยุ่น ทำงานทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่มีประโยชน์ให้ดำรงอยู่ต่อไปแม้วิกฤติสุขภาพสิ้นสุดลง
แนวทางรัฐบาลให้เหตุผลว่า การทำงานสัปดาห์ละสี่วันบริษัทยังคงรักษาพนักงานผู้มีประสบการณ์และความสามารถไว้กับบริษัทได้ ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาอาจต้องลาออกไปดูแลครอบครัวหรือดูแลผู้เฒ่าในครอบครัว
การทำงานสัปดาห์ละสี่วันยังกระตุ้นให้ผู้คนแสวงหาวุฒิการศึกษาเพิ่ม หรือทำงานเสริมนอกเหนือจากงานประจำ
ที่สำคัญที่สุดรัฐบาลหวังว่าการมีวันหยุดเพิ่มอีกสัปดาห์ละหนึ่งวันจะกระตุ้นให้ประชาชนออกไปข้างนอกแล้วใช้จ่าย ซึ่งส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจตามมา นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้พบปะกันมากกว่าเดิม ได้แต่งงานและมีบุตรช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดตกต่ำอย่างเลวร้าย ประชากรชราเพิ่มสูง และจำนวนประชากรหดตัวได้
มาร์ติน ชูลซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์นโยบาย แผนกข่าวกรองตลาดโลก บริษัทฟูจิตสึ เผยกับดีดับเบิลยูว่า รัฐบาลต้องการอย่างมากให้การเปลี่ยนแปลงทัศนคตินี้ฝังรากลึกในบริษัทญี่ปุ่น
เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลโตเกียวพยายามหาหนทางเอาชนะภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่นโยบายการคลังก็ทำไปแล้ว ธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็มีเครื่องมือจำกัด วิธีการถัดไปคือต้องปฏิรูปวิถีชีวิตและสไตล์การทำงานของชาวญี่ปุ่นหลายล้านคน
“ระหว่างที่โควิด-19 ระบาด บริษัทเปลี่ยนแปลงไปสู่ปฏิบัติการวิธีใหม่ และกำลังเห็นผลิตภาพค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย พนักงานทำงานจากบ้านหรือทำงานทางไกลจากสำนักงานเครือข่าย หรือจากทำเลของลูกค้า ซึ่งสะดวกสบายมากขึ้น และหลายบริษัทผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น” ชูลซ์กล่าว
ฟูจิตสึเองก็ใช้โอกาสนี้ลดพื้นที่สำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียวลง 50% เปลี่ยนไปทำงานทางไกลมากขึ้น
“ในอนาคตแผนกของผมจะมีคนเข้าออฟฟิศบ้าง แต่ยากที่ทุกคนจะเข้าออฟฟิศพร้อมกัน พื้นที่ที่มีตอนนี้ส่วนใหญ่ใช้สำหรับการประชุมแบบพบหน้าค่าตาที่ทำจากทางไกลไม่ได้” ชูลซ์ขยายความ
อย่างไรก็ตาม แผนการของรัฐบาลมีข้อเสียเปรียบตรงที่ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน ผลจากกำลังแรงงานวัยหนุ่มสาวลดลง
ในทำนองเดียวกันมีความกังวลว่า ฝ่ายบริหารไม่เต็มใจทำเช่นนั้นเนื่องจากทัศนคติการทำงานแบบเดิมๆ ที่ทำกันมาหลายชั่วอายุคน แม้มีหลักฐานประจักษ์ชัดว่าวิธีการแบบเก่าใช้ไม่ได้ผลเหมือนในอดีตอีกแล้ว
กล่าวอีกนัยหนึ่ง พนักงานก็อยากมีวันทำงานลดลงแต่ก็กลัวว่าค่าจ้างจะลดลงด้วย ทั้งยังถูกกล่าวหาว่าไม่อุทิศตัวให้กับบริษัทอย่างเต็มที่
จุงโกะ ชิเกโน บัณฑิตใหม่หมาดด้านธุรกิจศึกษาและภาษาได้งานทำในบริษัทใหญ่หลายแห่ง แต่เธอเลือกทำบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดเล็กแถมยังเดินทางไกลกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าปรัชญาของบริษัทนี้เหมาะกับตัวเธอมากกว่า
“ดิฉันค้นคว้ามากมายเกี่ยวกับบริษัทที่รับดิฉันเข้าทำงานในตำแหน่งเต็มเวลาและพูดคุยกับพนักงานแต่ละแห่ง 4-5 คนเพื่อความมั่นใจ ดิฉันถึงกับช็อกเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งน้ำตาแตกตอนถูกถามถึงสมดุลชีวิตและงาน” ชิเกโนเล่า
ปัญหาใหญ่สุดประการหนึ่งของหนุ่มสาวทุกวันนี้คือ การทำงานเกินเวลาโดยไม่ได้ค่าจ้างที่รู้จักกันในนาม “บริการล่วงเวลา” บริษัทที่ชิเกโนจะไปทำงานด้วยให้คำมั่นว่าเธอจะทำงานดังกล่าวไม่เกินเดือนละ 15 ชั่วโมง ขณะที่อีกบริษัทที่เรียกชิเกโนไปสัมภาษณ์บอกว่า เตรียมใจไว้เลยว่าต้องทำงานเกินเวลาไม่ได้ค่าจ้างทุกเดือนๆ ละราว 60 ชั่วโมง
เสียชีวิตเพราะทำงานหนัก
สื่อญี่ปุ่นรายงานอยู่เสมอเรื่องพนักงานหนุ่มสาวเจ็บป่วยเพราะทำงานล่วงเวลามากเกินไป หรือปลิดชีพตนเองเพราะความเครียด ที่เรียกกันว่า “คาโรชิ” หรือ เสียชีวิตจากการทำงานหนัก ผลการสอบสวนมักระบุว่า พนักงานทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้ค่าจ้างเกิน 100 ชั่วโมงต่อเดือนมานานหลายเดือนจนรับไม่ไหว
“นั่นไม่ใช่ดิฉันหรอกค่ะ ดิฉันมองหาการทำงานและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ พร้อมๆ กับต้องการมีเวลาให้ตัวเองเพื่อพบครอบครัว เพื่อน ทำงานอดิเรก สิ่งนี้สำคัญมากสำหรับดิฉันและเป็นเหตุผลว่าทำไมดิฉันเลือกทำงานกับบริษัทนี้” ชิเกโนกล่าว ส่วนชูลซ์มองว่า ปัจจัยสำคัญคือผลิตภาพเพิ่มขึ้น
“ตลอดปีที่ผ่านมา พนักงานแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเอาตัวมาอยู่ออฟฟิศห้าวันต่อสัปดาห์และอยู่จนดึกดื่นก็ยังมีผลิตภาพ ความเสี่ยงใหญ่สุดตอนนี้คือบางบริษัทถอยกลับไปทำวิธีเก่า แล้วยืนยันว่าพนักงานทุกคนต้องเข้าออฟฟิศทุกวันอีกครั้ง สำหรับบริษัทที่ไม่ทำความผิดดังกล่าวผลลัพธ์ที่ได้ย่อมวิน-วินกันทุกฝ่าย” ชูลซ์กล่าวทิ้งท้าย