ฟิลิปปินส์คลายกฏเอฟดีไอประเดิมด้วยอุตฯค้าปลีก

ฟิลิปปินส์คลายกฏเอฟดีไอประเดิมด้วยอุตฯค้าปลีก

ฟิลิปปินส์คลายกฏเอฟดีไอประเดิมด้วยอุตฯค้าปลีก โดยนอกจากอีเกียและยูนิโคล่แล้ว มีบริษัทค้าปลีกต่างชาติอีกแค่ประมาณ 20 แห่งเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำธุรกิจในฟิลิปปินส์ ภายใต้กฎหมายค้าปลีกฉบับแก้ไขใหม่

ฟิลิปปินส์ ผ่อนคลายกฏระเบียบด้านการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ(เอฟดีไอ)ในประเทศที่ถือว่ามีความเข้มงวดมากที่สุดในเอเชีย โดยประเดิมด้วยอุตสาหกรรมค้าปลีก ท่ามกลางความเห็นของผู้คนในแวดวงธุรกิจที่หลากหลาย กลุ่มที่เห็นด้วยก็มองว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ส่วนกลุ่มไม่เห็นด้วยก็มองว่ามาตรการผ่อนคลายนี้จะเป็นตัวฆ่าอุตสาหกรรมให้ตายในที่สุด           

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ ลงนามกฏหมายฉบับหนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้บรรดาผู้ค้าปลีกต่างชาติเข้ามาตั้งร้านค้าปลีกในฟิลิปปินส์ได้ง่ายขึ้น

กฏหมายนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังมีการประกาศให้สาธารณชนรับทราบวันที่ 6 ม.ค.แล้ว15วัน ได้รับการชื่นชมจากกลุ่มสนับสนุนที่มองว่าจะช่วยให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้นในอุตสาหกรรมค้าปลีกสวนทางกับบรรดาค้าปลีกในท้องถิ่นที่มองว่าการเข้ามาของค้าปลีกต่างชาติ ไม่ต่างอะไรกับการปล่อยให้มี“เพชฌฆาต”ฆ่าอุตสาหกรรมค้าปลีกของฟิลิปปินส์

 กฏหมายเปิดเสรีอุตสาหกรรมค้าปลีกของฟิลิปปินส์ที่มีชื่อว่า The Republic Act No. 11595 ฉบับแก้ไขใหม่ กำหนดเงินทุนขั้นต่ำสำหรับบริษัทค้าปลีกต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์ไว้ที่ 25 ล้านเปโซ (490,000 ดอลลาร์) จาก 2.5 ล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งยกเลิกเงื่อนไขต่างๆที่ถือเป็นข้อกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีเช่น มูลค่าทางการตลาดสุทธิของบริษัทค้าปลีกนั้นๆ และจำนวนสาขา

กฏหมายนี้เป็นหนึ่งใน3กฏหมายหลักของฟิลิปปินส์ในการเปิดเสรีเศรษฐกิจ ที่ทีมเศรษฐกิจของประธานาธิบดีดูเตอร์เตเป็นผู้ผลักดัน  

คาร์ลอส โดมิงเกส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า กฏหมายค้าปลีกฉบับเก่าเอื้อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าของกิจการขนาดใหญ่อย่างไม่เหมาะสม ปิดกั้นโอกาสของบรรดานักลงทุนกลุ่มเล็กๆ เช่น สตาร์ทอัพ ไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศ และยังสร้างความสับสนยุ่งยากแก่บริษัทค้าปลีกต่างชาติ

อุตสาหกรรมค้าปลีกในท้องถิ่นไม่เห็นด้วยกับการผ่อนคลายกฏครั้งนี้แต่ประธานาธิบดีดูเตอร์เต ซึ่งเตรียมก้าวลงจากอำนาจในเดือนม.ย.กำลังอยู่ระหว่างออกกฎหมายสำคัญเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวจากภาวะซบเซาเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังเล่นงานประเทศในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เมื่อไม่นานมานี้ อีเกีย บริษัทเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของโลกสัญชาติสวีเดนจะเข้ามาเปิดสาขาใหญ่ที่สุดในโลกในฟิลิปปินส์และยูนิโคล่ แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่นจะเข้ามาตั้งเอาท์เล็ตในฟิลิปปินส์ ที่ถือเป็นเอาท์เล็ตใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่อุตสาหกรรมค้าปลีกของฟิลิปปินส์ก็ยังถูกครอบงำจากบรรดาผู้เล่นในท้องถิ่น เช่น เอสเอ็ม อินเวสต์เมนท์ กลุ่มบริษัทบริหารแบบครอบครัว และโรบินสันส์ รีเทล โฮลดิงส์ ของกลุ่มบริษัทโก๊ะกงเหว่ย

 ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ฟิลิปปินส์ ระบุว่า นอกจากอีเกียและยูนิโคล่แล้ว มีบริษัทค้าปลีกต่างชาติอีกแค่ประมาณ 20 แห่งเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำธุรกิจในฟิลิปปินส์ ภายใต้กฎหมายค้าปลีกฉบับแก้ไขใหม่ รวมถึงบริษัทเสื้อผ้าจากสวีเดนอย่าง เอชแอนด์เอ็ม บริษัท Decathlon ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กีฬาสัญชาติฝรั่งเศส และแฟมิลีมาร์ท เครือข่ายร้านสะดวกซื้้อสัญชาติญี่ปุ่น

ฟิลิปปินส์ ติดอันดับสูงสุดในดัชนีคุมเข้มด้านกฏระเบียบในการลงทุนโดยตรงของต่างชาติที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี)โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมค้าปลีก 

ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ ระบุว่า เมื่อปี 2563 อุตสาหกรรมค้าปลีกของฟิลิปปินส์ได้รับเม็ดเงินลงทุนเอฟดีไออยู่ที่ 83.5 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 6% ของเอฟดีไอโดยรวม

“จอห์น ฟอร์บส์”ที่ปรึกษาอาวุโสประจำสภาหอการค้าอเมริกันในฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การแก้ไขกฏหมายนี้ถือเป็นการปฏิรูปอุตสาหกรรมค้าปลีกครั้งใหญ่และจะดึงดูดบรรดาบริษัทค้าปลีกต่างชาติหน้าใหม่ๆเข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์มากขึ้น

ส่วน“คริส เนลสัน” ผู้อำนวยการบริหารจากสภาหอการค้าอังกฤษประจำฟิลิปปินส์ เห็นว่ากฏหมายนี้จะปรับปรุงขีดความสามารถด้านการแข่งขันในแง่ของแหล่งลงทุนโดยตรงของฟิลิปปินส์ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดีขึ้น

“ผมทราบดีว่ามีหลายคนวิตกกังวล แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแก้ไขกฏหมายนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งแก่อุตสาหกรรมค้าปลีกฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในมิติของการแข่งขัน และจะดึงดูดบรรดาบริษัทค้าปลีกจากต่างประเทศเข้ามาในฟิลิปปินส์มากขึ้น”เนลสัน กล่าว และบอกด้วยว่าในเดือนหน้าจะจัดทำแผนเพื่อกระตุ้นให้บริษัทค้าปลีกอังกฤษเข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์มากขึ้น

แต่สมาคมค้าปลีกของฟิลิปปินส์(พีอาร์เอ) โดยโรเบอร์โต คลอดิโอ รองประธานพีอาร์เอ ตั้งข้อสงสัยว่า กฏหมายการลงทุนฉบับแก้ไขใหม่ที่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์นี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงเข้าประเทศให้ได้มากที่สุดได้อย่างไร

รองประธานพีอาร์เอ เชื่อว่าบริษัทต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์ ต้องเจอปัญหามากมาย ทั้งปัญหาคอร์รัปชัน ความล่าช้าของระบบราชการ ความสงบเรียบร้อยในประเทศและการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งในมุมมองของเขา เขาคิดว่าการทำธุรกิจในฟิลิปปินส์ไม่มีอะไรที่น่าดึงดูดใจ

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ข้อกำหนดเรื่องเงินทุนเบื้องต้นที่ลดลงภายใต้กฏหมายใหม่จะทำลายธุรกิจรายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดเล็กซึ่งครองสัดส่วน 98% ของภาคธุรกิจทั้งประเทศ