สังคมสูงอายุพ่นพิษ! เยอรมนีต้องการแรงงานต่างชาติมีทักษะปีละ 4 แสนคน
รัฐบาลผสมชุดใหม่ของเยอรมนีต้องการดึงดูดแรงงานฝีมือจากต่างประเทศปีละ 400,000 คน แก้ปัญหาประชากรไม่สมดุลและขาดแคลนแรงงานในภาคสังคม เสี่ยงบั่นทอนการฟื้นตัวจากโควิด
นายคริสเตียน เดอร์ ผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล “ฟรีเดโมแครต” ในสภา เผยกับนิตยสารธุรกิจ WirtschaftsWoche ว่า การขาดแคลนแรงงานมีทักษะเป็นปัญหารุนแรงในขณะนี้ ที่จะชะลอเศรษฐกิจเยอรมนีลงอย่างรวดเร็ว การแก้ปัญหาแรงงานสูงวัยควบคุมได้โดยนโยบายเข้าเมืองยุคใหม่ นำแรงงานมีทักษะจากต่างประเทศ 400,000 คนเข้ามาให้ได้โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ รัฐบาลผสมชุดใหม่ของเยอรมนี อันประกอบด้วยพรรคโซเชียลเดโมแครตของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ พรรคเอฟดีพีสายเสรีนิยมของนายเดอร์ และพรรคกรีน เห็นชอบร่วมรัฐบาลกันในหลายๆ ประเด็น อาทิ ดึงผู้เชี่ยวชาญจากประเทศนอกสหภาพยุโรป (อียู) และเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 12 ยูโร เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาทำงานในเยอรมนี
สถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมนีที่เป็นมิตรกับนายจ้าง ประเมินว่า ปีนี้กำลังแรงงานจะหดตัวลงกว่า 300,000 คน เนื่องจากคนงานสูงวัยเกษียณมากกว่าคนงานหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ช่องว่างนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 650,000 คนในปี 2572 โดยปีก่อนตัวเลขแรงงานชาวเยอรมันเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 45 ล้านคนแม้โควิด-19 ระบาด
กำลังแรงงานหดตัวในเยอรมนีอันเป็นผลจากอัตราการเกิดต่ำมานานหลายสิบปีและการย้ายถิ่นไม่สม่ำเสมอ ส่อเค้าเป็นระเบิดเวลาด้านประชากรของระบบบำเหน็จบำนาญเยอรมนี นายจ้างไม่อยากรับภาระจ่ายเงินบำนาญในขณะที่ผู้เกษียณจำนวนมากมีอายุคาดหวังสูงขึ้น