การค้า'จีน-รัสเซีย'พุ่งท่ามกลางวิกฤติยูเครน
การค้า'จีน-รัสเซีย'พุ่งท่ามกลางวิกฤติยูเครนโดยปริมาณการค้าระหว่างจีนและรัสเซียในปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 146,880 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 35.8% จากปีก่อนหน้า
ปริมาณการค้าระหว่างจีนและรัสเซียทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบใหม่ขณะที่ความบาดหมางของรัสเซียและชาติตะวันตกที่มีชนวนมาจากยูเครนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จนเรียกได้ว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียอาจไม่ส่งผลกระทบใดๆ
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนระบุว่า ปริมาณการค้าระหว่างจีนและรัสเซียในปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 146,880 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 35.8% จากปีก่อนหน้า
แม้ว่าทางการมอสโกยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขประมาณการล่าสุดต่อสาธารณชน อเล็กซี ดากนอฟสกี ผู้แทนการค้ารัสเซียในจีน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอาร์ไอเอ-โนโวสติ ช่วงต้นเดือนนี้โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการค้าระหว่างจีนและรัสเซียจะมีมูลค่ากว่า 140,000 ดอลลาร์
วันที่4 ก.พ. ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย จะเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ และจะพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน โดยมีการคาดการณ์กันว่าในการพบกันของสองผู้นำจะมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองร่วมกันหลายฉบับ รวมถึงการลงนามสัญญาขั้นสุดท้ายสำหรับโครงการพลังงานก๊าซธรรมชาติไซบีเรีย-2
บรรดานักวิเคราะห์มีความเห็นว่าความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกจากปมปัญหายูเครน ซึ่งอาจจะนำไปสู่มาตรการลงโทษด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่รัสเซียรอบใหม่จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างรัสเซียและปักกิ่งแนบแน่นยิ่งขึ้น
“อาร์ทยอม ลูคิน”ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากรัสเซีย ฟาร์ อีสเทิร์น เฟดเดอรัล ยูนิเวอร์ซิตี ให้สัมภาษณ์นิกเคอิ เอเชียว่า มีความเป็นไปได้สูงที่คณะเจ้าหน้าที่รัสเซียจะหารือกับคณะเจ้าหน้าที่จีนเกี่ยวกับการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรอบใหม่ และท่าทีของยูเครนในตอนนี้ บ่งชี้ว่ารัฐบาลรัสเซียมีความมั่นใจว่าต้องพึ่งพาแรงสนับสนุนจากรัฐบาลจีน
“ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่ปูตินจะได้รับการค้ำประกันบางอย่างจากประธานาธิบดีสี ถ้าเกิดวิกฤติจากปมยูเครนและชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย จีนจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัสเซีย”ลูคิน กล่าว
ช่วงกว่า10ปีมานี้ รัสเซียและปักกิ่งพยายามเสริมแสวงหาแนวทางเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันมากขึ้น โดยปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 167%
นับตั้งแต่ปี 2553 และปริมาณการค้าขยายตัวมากที่สุดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเพราะได้แรงหนุนจากโครงการขนาดใหญ่ด้านพลังงานที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องหลายช่วง เช่น โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติพาวเวอร์ ออฟ ไซบีเรีย-1 มูลค่า 55,000 ล้านดอลลาร์ โครงการท่อก๊าซอีสเทิร์น ไซบีเรีย-แปซิฟิก โอเชียน ไพพ์ไลน์ มูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์ และโรงงานผลิตก๊าซอาร์เมอร์ มูลค่า 13,000 ล้านดอลลาร์
รายงานของนิกเคอิชิ้นนี้มีขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ในยูเครนเริ่มตึงเครียดหนัก เมื่อ“แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐให้อำนาจประเทศกลุ่มบอลติก ทั้ง เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถังและต่อต้านอากาศยานช่วยยูเครน
ความตึงเครียดในยุโรปจากกระแสวิตกกังวลว่า รัสเซียจะส่งทหารบุกเข้ายูเครน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านติดชายแดนตะวันออก ทำให้รัฐบาลหลายประเทศตัดสินใจดำเนินแผนการรองรับและป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้กันแล้ว รวมถึงสหรัฐที่เดินหน้าหารือประเด็นดังกล่าวกับชาติพันธมิตรในยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง
บลิงเคน ทวีตว่า อาวุธที่พันธมิตรนาโต้จะส่งให้กับยูเครนจะช่วยเสริมสร้างสรรพกำลังในการป้องกันตนเองต่อการรุกรานที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการยั่วยุและเป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบของรัสเซีย พร้อมแสดงความขอบคุณต่ออดีตสมาชิกสาธารณรัฐโซเวียต ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การนาโตที่ให้การสนับสนุนยูเครนมาอย่างยาวนาน
คำสั่งอนุญาตให้ประเทศในกลุ่มบอลติกส่งอาวุธของสหรัฐให้ยูเครนเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังสหรัฐและรัสเซียบรรลุความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยูเครน โดยทั้งสองฝ่ายต่างสัญญาที่จะเดินหน้าเจรจากันต่อไปภายหลังการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาสิ้นสุดลง
เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำเนียบขาว เตือนบริษัทในอุตสาหกรรมชิปของสหรัฐให้เตรียมตัวรับมือเกี่ยวกับข้อกำหนดในการส่งออกฉบับใหม่ โดยระบุว่า หากรัสเซียทำการโจมตียูเครน สหรัฐอาจใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการแบนไม่ให้รัสเซียเข้าถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
"ปีเตอร์ ฮาร์เรลล์" และ“ทารัน ชฮาบรา” เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับบรรดาผู้บริหารของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (เอสไอเอ) ให้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
“สภาความมั่นคงแห่งชาติกล่าวถึงสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญในยูเครนอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน โดยตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และอาจเป็นการบุกรุกข้ามพรมแดนที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2” ผู้อำนวยการเอสไอเอ กล่าวและว่าเอสไอเอ พยายามประเมินความเป็นไปได้เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐจะนำมาบังคับใช้ ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรทางการเงิน การขยายข้อจำกัดการส่งออกไปยังรัสเซีย เช่นเดียวกับที่เคยบังคับใช้กับอิหร่านและเกาหลีเหนือ ตลอดจนกฎที่ให้อำนาจรัฐบาลในการสกัดกั้นการขนส่งสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศไปยังหัวเว่ย