'โควิด-19ระบาด'หนุนผู้สูงวัยหัวใจดิจิทัลเอเชีย
ยูโรมอนิเตอร์ ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า2ปี ทำให้บรรดาผู้อาวุโสในภูมิภาคเอเชียมีความพร้อมและตั้งใจเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น โดยผลวิจัยล่าสุดบ่งชี้ว่า 1 ใน 10 ของผู้สูงวัยในเอเชียมีชุดหูฟัง“วีอาร์”
รายงานซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่โดยยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทวิจัยด้านการตลาดมีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงลอนดอน ระบุว่า ผู้สูงวัยในเอเชียมีความพร้อมและมีความตั้งใจจริงในการเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงที่กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคโควิด-19มากกว่าผู้สูงวัยในประเทศตะวันตก
ยูโรมอนิเตอร์ ระบุในรายงานชื่อ “Top 10 Global Consumer Trends 2022.”ว่า ผู้สูงวัยในเอเชียหันไปหาสื่อสังคมออนไลน์ เกมออนไลน์ และการบริการต่างๆทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้นขณะที่ใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้นเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ออกไปไหนมาไหนไม่อิสระเหมือนช่วงปกติ
รายงานชิ้นนี้ ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจบ่งชี้ว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดที่มีอายุ 60 หรือ 60 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซฟิก ใช้ทวิตเตอร์วันละหลายครั้ง เทียบกับ 28% ในยุโรป และ36% ในอเมริกาเหนือ และ10% ของผู้สูงวัยที่ถูกสุ่มสำรวจในภูมิภาคบอกว่า มีอุปกรณ์หูฟังวีอาร์ ช่วยให้พวกเขาได้สำรวจ“เมตาเวิร์ส”
ถือเป็นการเพิ่มประสบการณ์ทางออนไลน์และแบ่งปันสภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริงของผู้คนผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยใช้ความเป็นจริงเสมือน (VR) หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (AR)สวนทางกับสัดส่วนของผู้สูงวัยในอเมริกาเหนือและยุโรปอยู่ที่ประมาณ 2%
ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่า ผู้อาวุโสในเอเชียเปิดกว้างและมีจิตใจชื่นชอบเทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นเดียวกันในภูมิภาคอื่นๆของโลก “เพชรา วรจรัสเรืองศรี” สตรีวัย 70 ปี อาศัยอยูู่ในกรุงเทพฯบอกกับเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ว่า ใช้เฟซบุ๊ค หรือแอพสื่อสารด้วยข้อความสั้น“ไลน์”ในการช็อปปิ้งออนไลน์มากถึงเดือนละ2ครั้ง เป็นการใช้เพิ่มขึ้นมากจากเดิมที่ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยในการซื้อผลไม้ปีละไม่กี่ครั้งก่อนโรคโควิด-19 ระบาด
เมื่อไม่นานมานี้ เธอเพิ่งซื้อเค้กผลไม้จากร้านค้าแห่งหนึ่งที่เธอเคยซื้อมาก่อนผ่านทางไลน์ โดยส่วนใหญ่เธอใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆจากบริษัทที่เธอไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น ซื้อไข่จากฟาร์มที่เธอไปรู้จักผ่านทางอีเวนท์ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งจัด แต่เธอก็ท่องเว็บเพื่อมองหาสินค้าแบรนด์ใหม่ๆด้วยเหมือนกัน
หนึ่งในตัวแปรที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของผู้สูงวัยหัวใจดิจิทัลในเอเชียคือการเป็นครอบครัวขยายที่มีสมาชิกครอบครังหลายรุ่นของผู้คนในภูมิภาคนี้
ข้อมูลเชิงสถิติของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ระบุว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือและยุโรปดำเนินชีวิตอย่างโดดเดี่ยวหรืออยู่คนเดียวตามลำพังกับคู่แต่งงานของตัวเอง ครอบครัวในเอเชียยังคงมีคนที่เป็นผู้ใหญ่สองหรือมากกว่าสองรุ่นหรือมีคนรุ่นย่า-ยาย และอย่างน้อยที่สุดก็มีคนรุ่นอื่นรวมอยู่ด้วย 1รุ่น
ขณะที่การล็อกดาวน์และมาตรการคุมเข้มด้านต่างๆเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ครอบครัวต่างๆมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นและคนหลายวัยจำนวนมากในเอเชียมีโอกาสมากขึ้นที่จะเรียนรู้การใช้แอพพลิเคชั่นที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จากหลานๆ ที่เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องปกติ
“นาตาชา คาซิน”ที่ปรึกษาด้านการวิจัยจากยูโรมอนิเตอร์ คาดการณ์ว่า แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่อนุญาติให้เจ้าของเนื้อหาสร้างชุมชนของตนเองได้และโพสต์เนื้อหาวิดีโอ เช่น ยูทูบ วีแชต และอินสตาแกรมจะได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้อาวุโสหัวใจดิจิทัลในเอเชียในอนาคต
ผู้อาวุโสหัวใจดิจิทัลบางคนกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้วยความช่วยเหลือของเหล่าลูกๆหลานๆหรือเหลนๆที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้คล่องกว่า เช่น สามี-ภรรยาคู่หนึ่งที่มีอายุประมาณ 80 ปี ทำธุรกิจซักเสื้อผ้าในไต้หวัน มีผู้ติดตาม 660,000 คนในอินสตาแกรม ที่ใช้แอคเคาท์ชื่อ “WANT SHOW as young.”พร้อมภาพของพวกเขาที่สวมเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งไว้ที่ร้านโดยไม่มีคนมาเอสนานหลายปี
พร้อมกับข้อความว่า “อย่าลืมมารับเสื้อผ้าที่ซักแล้วกลับไปด้วย”ซึ่งทำให้เกิดกระแสไวรัลในออนไลน์อย่างรวดเร็วและดึงดูดผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็น และมีบางคนอธิบายสองตา-ยายนี้ว่า“มีไสตล์และเจ๋ง!”