ดาวโจนส์ร่วง 21.42 จุดผวาเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงเดือนหน้า

ดาวโจนส์ร่วง 21.42 จุดผวาเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงเดือนหน้า

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์ (4ก.พ.)ร่วงลง 21.42 จุด ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่คาดไว้ หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งในวันนี้

นอกจากนี้ ดาวโจนส์ยังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่พุ่งขึ้น หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานดังกล่าว

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลง 21.42 จุด หรือ 0.06% ปิดที่ 35,089.74 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้น 0.5% ปิดที่ 4,500.53 จุด และดัชนีแนสแด็ก ทะยาน 1.6% ปิดที่ 14,098.01 จุด

ทั้งนี้ นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาด

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ได้อีกมาก" โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน

ด้าน FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 27% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 14%

นอกจากนี้ นักลงทุนลดคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค. โดยให้น้ำหนัก 73% ลดลงจากเดิมที่ให้น้ำหนัก 86%

ด้านแบงก์ ออฟ อเมริกาออกรายงานคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25%
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่แบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ หมายความว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งเหนือระดับ 1.9% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2563 ขณะที่นักลงทุนเทขายพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่สูงเกินคาด

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 467,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.0% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.9%

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 647,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 249,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนธ.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 510,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 199,000 ตำแหน่ง
กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 444,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 23,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.2%