ส่องทิศทาง “ดอกเบี้ย-เศรษฐกิจสหรัฐ” รับมือเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี

ตอนนี้คงไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่จะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่าเฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้มากขึ้น
เริ่มจาก "โกลด์แมน แซคส์" คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้ง ซึ่งหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์จริงก็ หมายความว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.
และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดพุ่งแตะ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 0.00-0.25%
ส่วนในปีหน้า โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 3 ครั้ง และคาดว่าท้ายที่สุดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะอยู่ที่ 2.5-2.75% ในปี 2567
ต่อมาคือ“แบงก์ ออฟ อเมริกา”คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้เช่นกัน โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ซึ่งแบงก์ ออฟ อเมริกา ถือเป็นสถาบันการเงินรายแรกที่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้
ตามมาด้วย “เอชเอสบีซี ”คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และปรับขึ้นอีก 4 ครั้งหลังจากนั้น โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดทะยานขึ้นไปแตะ 1.50-1.75% ในปลายปีนี้
ส่วน“ดอยซ์แบงก์” คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และปรับขึ้นอีก 5 ครั้งหลังจากนั้น โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 1.75% ในปีนี้
ด้าน“เจพี มอร์แกน” ก็ปรับเพิ่มคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยจาก 4 ครั้งเป็น 5 ครั้ง ขณะที่ปรับลดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 จาก 4 ครั้งเหลือ 3 ครั้ง โดยเจพี มอร์แกน มองว่า โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งเดียวถึง 0.5% นั้นเกิดขึ้นได้ยาก โดยหากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงมากและมองว่าเฟดจะเพิ่มจำนวนครั้งการขึ้นดอกเบี้ยแทนมากกว่า ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดู ครั้งสุดท้ายที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยทีเดียว 0.5% คือเดือนพ.ค. ปี2543
ขณะที่“แคปิตัล อีโคโนมิคส์” คาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้น้อยกว่านักวิเคราะห์รายอื่นที่ 4 ครั้ง ตามมาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 อีก 4 ครั้ง และจบด้วย 1 ครั้งในปี 2567 ทำให้คาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาวของเฟดอยู่ที่ 2.25-2.5% เพราะ แคปิตัล อีโคโนมิคส์ มีความเห็นว่า ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อที่สูงจะไม่กดดันให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง เพราะต้องพิจารณาทิศทางเศรษฐกิจต่อจากนี้ประกอบด้วย
เมื่อกระแสคาดการณ์มาแบบนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี จึงดีดตัวเหนือระดับ 2% ในวันศุกร์(11ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาดจะผลักดันให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เมื่อเวลา 00.09 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.05% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.345%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
บรรดานักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี รวมทั้งเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“เจอโรม พาวเวล” ประธานเฟด กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย “ได้อีกมาก” โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 88% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. จากเดิมที่เคยให้น้ำหนักเพียง 14%
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 95% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1.00% ภายในเดือนมิ.ย.
ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่มีผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยประกอบด้วย 3 ปัจจัยคือ 1.อัตราเงินเฟ้อ ที่จะยังคงยืนอยู่เหนือเป้าหมายของเฟดที่ 2% ต่อจากนี้ไปยังคงต้องจับตาดูส่วนประกอบของเงินเฟ้อสหรัฐ ที่เป็นเงินเฟ้อระยะยาว เช่น ราคาที่พักอาศัย ราคาน้ำมัน และค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความเสี่ยงที่2. เพดานหนี้ภาครัฐของสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดมาโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2560 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และการที่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นย่อมหมายความว่าภาระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มพูนขึ้น ซึ่งเฟดต้องนำปัจจัยนี้เข้ามาประกอบการตัดสินใจด้วย การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป
ความเสี่ยงที่ 3.แนวโน้มการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)สหรัฐ ในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวลดลง แม้ว่าจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2564 ของสหรัฐจะขยายตัวดีที่ 6.9% เมื่อเทียบปีต่อปี
แต่เป็นเพราะสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 มาจากสินค้าคงคลังที่สูงขึ้น เนื่องจากการที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปี รวมถึงความกังวลว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลต่อการขนส่ง และอาจทำให้สินค้าขาดแคลน
นอกจากนี้ ฐานการขยายตัวของจีดีพีสหรัฐในปี 2564 ก็สูงมาก อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบปีต่อปีในปีนี้จึงจะชะลอตัวลงอย่างแน่นอน
ปีนี้น่าจะเป็นปี“เสือ”ดุของจริง ในมิติของอัตราดอกเบี้ยและต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดเพราะที่กล่าวมาเป็นแค่ปัจจัยเสี่ยงบางส่วน ยังมีปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ของโลกที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของชาติยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ