จีนยึดมั่นสัมพันธ์เมียนมาหนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

จีนยึดมั่นสัมพันธ์เมียนมาหนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

จีนยึดมั่นสัมพันธ์เมียนมาหนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยจีนให้การรับรองสภาบริหารแห่งรัฐ(เอสเอซี)แต่ไม่ให้ความสำคัญกับ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (เอ็นยูจี) กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย ที่ก่อตั้งโดยบรรดาส.ส.ที่ถูกยึดอำนาจ

จีนยังคงเดิมพันข้างรัฐบาลทหารเมียนมาท่ามกลางกระแสไม่ยอมรับรัฐบาลที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ที่ยังคุกกรุ่น โดยจีนยังคงเดินหน้าสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมียนมามากมายหลายโครงการต่อไป

ในบรรดาสัญญาณต่างๆที่ตอกย้ำว่าจีนสนับสนุนเมียนมาแทนที่จะโดดเดี่ยวประเทศนี้คือการทำให้เมียนมาเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่รับมอบเรือดำน้ำจากจีนเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องในวาระครบรอบ 74 ปีการก่อตั้งกองทัพเรือเมียนมา และเป็นเรือดำน้ำลำที่ 2 ที่ได้เข้าประจำการในกองทัพเมียนมา

เรือดำน้ำลำนี้เป็นเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าชั้น Ming Type 035B สร้างขึ้นในอู่ฮั่น ช่วงต้นทศวรรษ 2000 สำหรับประจำการในกองทัพเรือปลดปล่อยประชาชนจีน โดยเมียนมานำมาตั้งชื่อใหม่ว่า “Minye Kyaw Htin”

เรือดำน้ำชั้น Ming เป็นรุ่นดัดแปลงจากเรือดำน้ำชั้น Romeo ของสหภาพโซเวียตในยุค 1950 โดยระยะหลังจีนค่อยๆ ปลอดประจำการเรือดำน้ำชั้น Ming เพื่อสนับสนุนเรือที่ทันสมัยขึ้น

การส่งมอบเรือดำน้ำนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า จีนสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาท่ามกลางกระแสเรียกร้องทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้คว่ำบาตรอาวุธเมียนมา

และเมื่อเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีการเคลื่อนไหวที่ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนักนั่นคือลงมติประณาม และเรียกร้องให้คว่ำบาตร หยุดขายอาวุธให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อตอบโต้กองทัพเมียนมา นำโดย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตั้งแต่เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังให้การรับรองสภาบริหารแห่งรัฐ(เอสเอซี) ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ   

‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (เอ็นยูจี) กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยที่ก่อตั้งโดยบรรดาส.ส.ที่ถูกยึดอำนาจ   

แต่ความวิตกกัังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 การต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆกับกองทัพเมียนมาที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องบริเวณชายแดน และเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับรัฐบาลจีนที่ต้องการเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมียนมาต่อไป จีนยังคงเปิดทางเลือกให้ตัวเอง ด้วยการสนับสนุนให้มีการเจรจาระหว่างกองทัพเมียนมาและพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี)ของนางออง ซาน ซูจี ที่ขณะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของรัฐบาลทหารเมียนมา  นอกจากนี้ จีนยังคงความสัมพันธ์อันยาวนานกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จีน-เมียนมา ตั้งข้อสังเกตว่าการตัดสินใจของจีนที่จะหวนกลับมาดำเนินความสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบกับรัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มตั้งแต่การประชุมที่เมืองฉงชิ่งวันที่ 9 มิ.ย.ซึ่ง“วันนะ หม่อง ละวิน” รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมาที่กองทัพแต่งตั้งได้พบกับ“หวัง อี้” รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน

ในเดือนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จีนทั้งระดับมณฑลและระดับประเทศเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมา ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนและกลุ่มล็อบบี้ทางธุรกิจในย่างกุ้งก็ติดต่ออย่างเปิดเผยกับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารเมียนมาและส่งเสริมโอกาสทางการค้าระหว่างกัน

ขณะเดียวกัน จีนก็ยังคงติดต่ออย่างใกล้ชิดกับเอ็นแอลดีผ่านทางช่องทางระดับพรรคต่อพรรค โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เชิญเอ็นแอลดีเข้าประชุมซัมมิตระดับภูมิภาคในเดือนต.ค.ควบคู่ไปกับพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา(ยูเอสดีพี)ของกองทัพ

“จีนมองพรรคเอ็นแอลดีเป็นพรรคการเมืองที่มีความชอบธรรมเพียงพรรคเดียวในเมียนมา เอสเอซีอาจจะขาดความชอบธรรมแต่ความชอบธรรมของเอ็นยูจีก็ยังมีความคลุมเครือ สำหรับจีนนั้น มองว่าการประนีประนอมระหว่างเอสเอซีและเอ็นแอลเอเป็นทางออกของปัญหา ถ้าเอ็นแอลดีถูกยุบ ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมาก็จะยืดเยื้อต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” ยุน ซัน ผู้อำนวยการโครงการจีนของสติมสัน เซนเตอร์ กลุ่มนักคิดมีฐานดำเนินงานในสหรัฐ ให้ความเห็น

ขณะเดียวกัน การหวนกลับมาเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีนก็เป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงการดำเนินความสัมพันธ์ฉันท์ปกติระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างมีนัยสำคัญ 

ก่อนหน้าที่กองทัพจะเผาหมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐคะยาทางตะวันออกของเมียนมาเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาและสังหารประชาชนไปกว่า 30 คนได้ไม่นาน รัฐบาลทหารเมียนมาก็ประกาศความตั้งใจที่จะเริ่มโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน  

กระทรวงด้านการลงทุนและข้อมูลของรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า ได้ทบทวนและปรับปรุงข้อตกลงต่างๆที่ลงนามระหว่างสองประเทศในช่วงที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการในเดือนม.ค.ปี 2563พร้อมทั้งจัดสรรการลงทุนในท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐพิเศษเจ้าผิวก์เป็นโครงการสำคัญอันดับแรกๆที่ต้องเร่งพัฒนา

ขณะที่ซิติก(CITIC) กลุ่มบริษัทจีนที่เป็นของรัฐบาลประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ได้ว่าจ้าง“เมียนมา เซอร์เวย์ รีเสิร์ช” ซึ่งตั้งอยู่ในย่างกุ้ง ให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและประเมินผลกระทบทางสังคม(อีเอสไอเอ)สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือเจ้าผิวก์

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือเจ้าผิวก์ มีส่วนสำคัญต่อแผนการอันทะเยอะทะยานของจีนในการเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียผ่านเมียนมา ภายใต้โครงการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง(บีอาร์ไอ)ของจีนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงริเริ่ม