“สงครามรัสเซีย - ยูเครน” พิสูจน์ลัทธิมอนโร “สหรัฐ”
ทำไม ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ยืนกรานคัดค้านยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และมีความเชื่อมโยงกับแถลงการณ์ มอนโร ดอคทริน (Monroe Doctrine) ที่มีความสำคัญต่อการวางรากฐานนโยบายต่างประเทศสหรัฐมากว่า 200 ปี
นับตั้งแต่ ประธานาธิบดีปูติน สั่งปฏิบัติการทางทหารโจมตียูเครนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (24 ก.พ.65) มาถึงขณะนี้สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังคงตึงเครียดสูง และเกิดการปะทะรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายพันคน
เหตุการณ์ประลองทางการทหารที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์เดียวคือ เครมลินต้องการต่อต้านยูเครนไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มนาโต พูดง่ายๆ คือ ยูเครนเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ในยุโรป รองจากรัสเซีย ซึ่งรัสเซียต้องการให้ชาติตะวันตกปิดประตูไม่รับยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต และให้คำมั่นว่า จะไม่ส่งกำลังทหารมายังยุโรปตะวันออก ตราบใดที่ไม่รับอนุญาตจากเครมลิน
"กวี จงกิจถาวร" นักวิชาการอาวุโส จากสถาบันการศึกษาความมั่นคง และนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า นี่เป็นแก่นความคิดในวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งประธานาธิบดีปูตินกำลังใช้หลักการเดียวกันนี้เพื่อต่อต้านกลุ่มพันธมิตรนาโตที่มีสหรัฐเป็นหัวเรือใหญ่
ลัทธิมอนโรคือ แถลงการณ์ที่ตั้งชื่อตามอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ “เจมส์ มอนโร“ ที่ได้แถลงการณ์ไว้ในสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2366 โดยกล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่จะนำพาประเทศให้อยู่ใน ”ความสงบและโดดเดี่ยว”และไม่ต้องการให้ชาติยุโรปเข้า “แทรกแซงทางการเมือง หรือแสวงหาดินแดน” ในทวีปอเมริกา นั่นหมายความว่า สหรัฐขัดขวางไม่ให้มหาอำนาจยุโรปตั้งอาณานิคมในพื้นที่ใดก็ตามทั้งอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้
ขณะนั้น อังกฤษ ฝรั่งเศส ปรัสเซีย รัสเซีย และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่สเปน ในการปราบกบฏอาณานิคมทั้งในอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ หากแต่เป็นความพยายามของชาติต่างๆ ในการแสวงหาโอกาสครอบครองดินแดนในแถบนี้
แถลงการณ์มอนโรยังบอกด้วยว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามในยุโรป ขณะเดียวกับสหรัฐไม่ต้องการให้ชาติใดส่งกองกำลังมาตั้งฐานทัพในประเทศของภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่งมีผลเชิงจิตวิทยาด้านความมั่นคงประเทศ
เมื่อฉายภาพมายังปัจจุบัน จะเห็นว่า รัสเซียอ้างตรรกะเดียวกันกับที่สหรัฐใช้อยู่ และยังเพิ่มขอบเขตคำจำกัดความว่า หากยูเครน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกนาโต ย่อมเท่ากับรัสเซียกำลังถูกชาตินาโตประชิดประเทศ
"รัสเซียในปัจจุบัน และสหรัฐในอดีตต่างก็อ้างใช้หลักการนี้ เพื่อปกป้องประเทศจากภัยความมั่นคงต่างชาติ" กวี กล่าว
สิ่งนี้ยังเป็นเหตุผลหนึ่งใช้ประกอบ ก่อนที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะตัดสินใจประณาม หรือคว่ำบาตรรัสเซีย ย่อมต้องทำความเข้าใจกับวิธีคิดของรัสเซียให้ลึกซึ้ง บนพื้นฐานที่ว่า หนทางการแก้ไขความขัดแย้งต้องมุ่งคลี่คลายความตึงเครียด มากกว่าเพิ่มเชื้อไฟให้สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์