บทบาทสตรีอิสราเอลกับการไร้ข้อจำกัดทางเพศ
นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ดิฉันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและการเสริมพลังสตรี
ในโอกาสวันสตรีสากลวันที่ 8 ม.ค.ของทุกปี ผู้คนทั่วโลกต่างพร้อมใจกันเฉลิมฉลองความสำเร็จอันน่าทึ่งของสตรีและเด็กผู้หญิง ทั้งยังเป็นโอกาสที่ได้ร่วมตระหนักถึงความท้าทายและอคติที่สตรีต้องเผชิญ ขณะเดียวกัน วันสตรีสากลยังเป็นเวลาอันเหมาะสม ที่เราจะร่วมสร้างความตระหนักรู้และมุ่งปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและโอกาสทางเพศในด้านต่างๆ
ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ดิฉันต้องพบกับความท้าทายในหลายรูปแบบ นับตั้งแต่ความท้าทายในชั้นเรียน ในระหว่างการรับราชการทหาร ตลอดจนถึงการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ความท้าทายที่ดิฉันต้องเผชิญนี้เป็นเพียงเพราะดิฉันเป็น “ผู้หญิง” อาจกล่าวได้ว่าสตรีจำนวนมากถูกบงการว่าสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ หรือถูกกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่ “เหมาะสม” สำหรับพวกเธอ ตลอดไปจนถึงการถูกปฏิเสธในการทำงาน
ดังนั้นแล้ว ในฐานะเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ดิฉันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและการเสริมพลังสตรี (women empowerment)
นับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศอิสราเอลเมื่อปี 2491 อิสราเอล ทุ่มเทอย่างยิ่งในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยปฏิญญาการสถาปนาประเทศอิสราเอล ได้วางพื้นฐานแห่งรัฐไว้เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิทางสังคมและการเมือง จะอยู่บนฐานแห่งความเท่าเทียมและปราศจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ หลังจากการก่อตั้งประเทศเพียงสามปี
ในปี 2494 รัฐสภาอิสราเอลได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยสิทธิความเท่าเทียมกันของสตรี เพื่อรับรองความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ระหว่างชายและหญิง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อิสราเอลได้ออกมาตรการ กฎหมาย กรอบนโยบาย และกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ เพื่อรองรับโอกาสและความเท่าเทียมทางเพศ
ดิฉันคิดว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการสนับสนุนเรื่องนี้คือระบบการศึกษา ประเทศอิสราเอลได้มุ่งส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาโอกาสแห่งความเท่าเทียม ลดช่องว่างทางเพศ และขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิงในทุกรูปแบบ
นอกจากนั้น อิสราเอลยังได้พัฒนาโครงการต่างๆ และกลไกระดับสถาบันเพื่อส่งเสริมให้สตรีและเด็กผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในภาคสังคมของอิสราเอล หนึ่งในกลไกสำคัญคือสำนักงานว่าด้วยความก้าวหน้าของสถานภาพสตรีอิสราเอล (Israel’s Authority for the Advancement of the Status of Women) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541
มีหน้าที่ประสานงานและทบทวนกิจกรรมของรัฐที่เกี่ยวกับสถานภาพของสตรี รวมถึงให้คำแนะนำอย่างกว้างขวางครอบคลุมประเด็นต่างๆ อาทิ การจ้างงาน การศึกษา สุขภาพ ความรุนแรงต่อสตรี และอื่นๆ เวลานี้สตรีชาวอิสราเอลก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างโดดเด่นและเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นในภาคการเมือง ธุรกิจ กฎหมาย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ
คณะรัฐมนตรีอิสราเอลชุดปัจจุบัน มีรัฐมนตรีผู้หญิงถึงเก้าคน นับเป็นจำนวนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของคณะรัฐมนตรีอิสราเอล
ในขณะเดียวกัน ผู้พิพากษานางเอสเตอร์ ฮายูต ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของอิสราเอล ซึ่งเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติและสำคัญยิ่งของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าของพลังสตรียังเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในภาคธุรกิจ โดยเมื่อปี2563 Mastercard จัดอันดับให้อิสราเอลเป็นประเทศที่ดีที่สุด ที่รัฐสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าและโอกาสของผู้ประกอบการสตรี
ในส่วนของบทบาทระหว่างประเทศนั้น อิสราเอลยินดีอย่างยิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอล (Israel’s Agency for International Development Cooperation) หรือที่รู้จักในนาม “มาชาฟ” (MASHAV) ได้จัดการฝึกอบรมและมีหลักสูตรว่าด้วยการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตัวเองของสตรี ทั้งในประเทศอิสราเอลและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
นางโกลดา เมเอียร์ (Golda Meir) นายกรัฐมนตรีสตรีคนแรกของอิสราเอล และสตรีคนที่สามของโลกผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล ได้ก่อตั้งศูนย์การฝึกอบรมมาชาฟ เมาท์คาเมล (MASHAV Carmel Training Center-MCTC) เมื่อปี2504 ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมแห่งแรกของโลกที่จัดหลักสูตรเกี่ยวกับการเสริมพลังสตรี และส่งเสริมการมีบทบทของสตรี กว่าหกสิบปีที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 29,000 คน จาก 147 ประเทศทั่วโลก
ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการชาวไทยด้วย ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการต่างก็ได้รับประโยชน์เป็นอย่างยิ่งจากโครงการและกิจกรรมต่างๆ
ถึงแม้ว่าอิสราเอลจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมพลังสตรี แต่เรายังคงมุ่งพัฒนาและส่งเสริมประเด็นนี้ต่อไป ด้วยเหตุที่ว่าสตรีจำนวนมากทั่วโลกยังคงมีบทบาทอันจำกัด อีกทั้งยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในหน้าที่การงานของตน ดิฉันเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นแต่เพียงเรื่องความอยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายยิ่งต่อการพัฒนาด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของเราด้วย
ดังนั้นแล้ว ดิฉันใคร่ขอเรียกร้องรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของประเด็นนี้ พร้อมกับมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน ขจัดอคติและการเลือกปฏิบัติต่อสตรี อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน