‘กักตุนอาหาร-น้ำมัน’สิ่งไม่ควรทำยามศึกสงครามรัสเซีย-ยูเครน

‘กักตุนอาหาร-น้ำมัน’สิ่งไม่ควรทำยามศึกสงครามรัสเซีย-ยูเครน

‘กักตุนอาหาร-น้ำมัน’สิ่งไม่ควรทำยามศึกสงคราม ขณะมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกที่รุนแรงกว่าตัวสงครามเองแต่จากการประเมินในขณะนี้คาดว่าวิกฤตครั้งนี้จะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดฟื้นตัว

ประธานเวิลด์แบงก์เตือนประชาชนและภาคธุรกิจอย่ากักตุนอาหารและน้ำมันช่วงที่โลกอยู่ในสถานการณ์เปราะบางจากการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ด้านเศรษฐีรัสเซียเผยโลกเตรียมเผชิญหน้ากับวิกฤติอาหารจากผลพวงของสงครามครั้งนี้ ขณะไอเอ็มเอฟ คาดเศรษฐกิจยูเครนจะหดตัว 10% ปีนี้ แต่มีสิทธิหดตัวมากกว่าคาดหากความขัดแย้งยืดเยื้อ

"เดวิด มัลพาสส์" ประธานธนาคารโลก แนะนำประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ อย่ากักตุนอาหารและน้ำมัน แม้ว่าราคาจะพุ่งสูงขึ้นก็ตาม หลังจากรัสเซียโจมตียูเครน และนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรชุดใหญ่จากนานาชาติ

มัลพาสส์กล่าวในงานเสวนาออนไลน์จัดโดยหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกที่รุนแรงกว่าตัวสงครามเองแต่จากการประเมินในขณะนี้ เขาคาดว่า วิกฤตครั้งนี้จะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดฟื้นตัว หรือส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ทั่วโลกลดลง

มัลพาสส์คาดการณ์ว่า การรับมือสถานการณ์อย่างแข็งแกร่งจากผู้ผลิตทั่วโลกจะช่วยเพิ่มปริมาณซัพพลายได้เพียงพอต่อความต้องการ และคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องกักตุนสินค้าเพิ่มเป็นพิเศษในภาคครัวเรือนหรือธุรกิจร้านอาหาร ทั้งยังคาดการณ์ว่า อุปทานพลังงานนอกรัสเซียจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่อุปทานด้านอาหารนอกรัสเซียและยูเครนจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากสงคราม และประคองให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้

มัลพาสส์ ระบุด้วยว่า ซัพพลายพลังงานอาจเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอาหาร เนื่องจากการปรับตัวทางการเกษตรมักใช้เวลาประมาณหนึ่งปี

“สิ่งที่ควรทำในสถานการณ์ตอนนี้คือ อย่าออกไปซื้อแป้งหรือน้ำมันมากักตุน แต่ขอให้ตระหนักว่าระบบเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีการตอบสนอง และสินค้าจะยังคงมีเพียงพอ”

คำแนะนำของประธานธนาคารโลกมีขึ่้นหลังจาก“อังเดร เมลนิเชนโก” มหาเศรษฐีธุรกิจปุ๋ยและถ่านหินชาวรัสเซียเปิดเผยว่า วิกฤติอาหารโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เว้นเสียแต่ว่าสงครามในยูเครนจะยุติลง เพราะราคาปุ๋ยพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถซื้อได้

มหาเศรษฐีรัสเซียจำนวนมาก รวมถึงมิคาอิล ฟรีดแมน, ปีเตอร์ เอเวน, โอเลก เดริปาสกา เรียกร้องสันติภาพนับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ออกคำสั่งบุกยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา

สหรัฐและพันธมิตรในยุโรปเรียกการบุกโจมตีของปธน.ปูตินว่าเป็นการยึดดินแดนในรูปแบบจักรวรรดิ ที่จนถึงตอนนี้ดำเนินการได้อย่างย่ำแย่เนื่องจากรัสเซียประเมินการต่อต้านของชาวยูเครนและการลงโทษรัสเซียของชาติตะวันตกต่ำเกินไป

ชาติตะวันตกได้คว่ำบาตรนักธุรกิจรัสเซีย รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) ที่คว่ำบาตรนายเมลนิเชนโก ตลอดจนแช่แข็งทรัพย์สินในต่างประเทศและตัดองค์กรต่าง ๆ ของรัสเซียออกจากเศรษฐกิจโลกเพื่อบีบบังคับให้ปธน.ปูตินเปลี่ยนแผน ซึ่งปธน.ปูตินปฏิเสธ พร้อมเรียกสงครามนี้ว่าปฏิบัติการพิเศษทางการทหารเพื่อกำจัดพวกคลั่งชาติและนาซีที่เป็นกลุ่มอันตรายออกจากยูเครน

“เหตุการณ์ในยูเครนคือโศกนาฏกรรมอย่างแท้จริง เราต้องการสันติภาพโดยด่วน” เมลนิเชนโก มหาเศรษฐีชาวรัสเซียวัย 50 ปี ซึ่งเกิดในเบลารุสและมีมารดาเป็นชาวยูเครน  กล่าวและว่า“หนึ่งในเหยื่อของวิกฤตินี้คือภาคเกษตรและอาหาร” 

เมลนิเชนโก เป็นผู้ก่อตั้งยูโรเคม (EuroChem) หนึ่งในผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียซึ่งย้ายฐานไปยังซูริก สวิตเซอร์แลนด์ในปี 2558 และเป็นเจ้าของบริษัทพลังงานถ่านหินไซบีเรีย (SUEK) ซึ่งผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย

ปธน.ปูตินออกมาเตือนเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (10 มี.ค.) ว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นทั่วโลกเนื่องจากราคาปุ๋ยที่ทะยานขึ้น หากชาติตะวันตกสร้างปัญหาให้กับการส่งออกของผู้ผลิตปุ๋ยรัสเซีย ซึ่งคิดเป็น 13% ของการผลิตปุ๋ยโลก

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยรายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูเครนจะหดตัว 10% ในปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการที่รัสเซียบุกยูเครน แต่อาจจะย่ำแย่กว่าที่คาด ถ้าหากความขัดแย้งดังกล่าวยืดเยื้อออกไปอีก

รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นก่อนที่ไอเอ็มเอฟจะอนุมัติกองทุนสำรองฉุกเฉินวงเงิน 1.4 พันล้านดอลลาร์

รายงานระบุว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของยูเครนอาจหดตัว 25-35% โดยอ้างอิงข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จริงจากประเทศอิรัก เลบานอน และประเทศอื่น ๆ ในช่วงที่อยู่ในภาวะสงคราม

ไอเอ็มเอฟ กำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งกองทุนทรัสต์ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้บริจาคสามารถส่งทรัพยากรต่าง ๆ ไปยังยูเครน โดยเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า วงเงิน 1.4 พันล้านดอลลาร์ที่ได้รับอนุมัติในกองทุนสำรองฉุกเฉินคือวงเงินสูงสุดที่ยูเครนสามารถกู้ยืมได้ภายใต้กฎเกณฑ์ในปัจจุบันของไอเอ็มเอฟ แต่เงินกู้ดังกล่าวจะเป็นตัวเร่งกระตุ้นให้ผู้บริจาครายอื่น ๆ ช่วยกันบริจาค

“อิวานนา วลาดโกวา โฮลลาร์” หัวหน้าคณะผู้แทนของไอเอ็มเอฟ ประจำยูเครนเปิดเผยว่า ทางการยูเครนกำลังพยายามอย่างมากที่จะทำให้เศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในระหว่างสงคราม

เจ้าหน้าที่ ไอเอ็มเอฟระบุว่า มีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาจากความขัดแย้งที่รุนแรง และเตือนว่าอาจมีการสูญเสียทุนทางกายภาพ และกระแสผู้ลี้ภัยจำนวนมากอาจส่งผลให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งอาจทำให้เกิดการล่มสลายของกระแสการค้า และรายได้จากภาษีลดต่ำลง