นักวิเคราะห์เตือน ‘มอลโดวา’ เป้าหมายต่อไป ‘ปูติน’

นักวิเคราะห์เตือน ‘มอลโดวา’ เป้าหมายต่อไป ‘ปูติน’

สงครามในยูเครนเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 รัสเซียเผชิญแรงต้านชนิดที่ไม่คาดคิดมาก่อน นักวิเคราะห์เตือนว่า ประธานาธิบดีปูติน อาจกำลังพิจารณาเป้าหมายใหม่ “มอลโดวา”

“ถ้าความขัดแย้งบานปลายเกินกว่ายูเครน มอลโดวาเป็นสถานที่หนึ่งที่อยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ” แอนเดรียโน โบโซนี ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทจัดการความเสี่ยงเรน กล่าว กับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซี

มอลโดวาก็เหมือนกับยูเครน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป (อียู) ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จึงฝันอยากเข้าร่วมทั้งสององค์กร ทั้งยังเหมือนยูเครนตรงที่  อดีตสหภาพโซเวียตประเทศนี้มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซียจำนวนหนึ่งในรัฐทรานส์นิสเทรียที่แยกตัวออกไปบริเวณชายแดนยูเครน

ทรานส์นิสเทรียปกครองด้วยผู้นำที่เครมลินสนับสนุน จึงอาจเป็นตัวแทนของโอกาสทางยุทธศาสตร์สำหรับรัสเซีย ที่ระดมพลในพื้นที่ราว 1,500 นายเรียบร้อยแล้ว

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อาจยอมรับทรานส์นิสเทรียในฐานะรัฐเอกราชเหมือนที่ทำกับโดเนตสก์และลูฮันสก์ก่อนรุกรานยูเครนเต็มตัว หรืออาจกลายเป็นจุดสำคัญให้รัสเซียจัดฉากเหตุการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าแทรกแซง

“สำหรับผมมันน่าสนใจมากตรงที่ว่ารัสเซียยังไม่ยอมรับทรานส์นิสเทรียเป็นรัฐเอกราชเหมือนที่ทำกับลูฮันสก์และโดเนตสก์ ถ้าเราเห็นรัสเซียทำแบบนั้น ก็จะเป็นตัวบ่งชี้จริงจังว่าพวกเขากำลังคิดนำความขัดแย้งสู่มอลโดวา” โบโซนี กล่าว 

ด้านสถานทูตรัสเซียในลอนดอน นิวยอร์ก และกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียไม่ได้ตอบคำถามจากซีเอ็นบีซี

ตามข้อมูลของโบโซนี ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าปูตินกำลังวางยุทธศาสตร์ดังกล่าวในมอลโดวา เขามองว่านี่คือ สถานการณ์ที่เป็นไปได้ต่ำ ความเสี่ยงสูง สถานการณ์นำที่อาจเกิดขึ้น เช่น รัสเซียประณามรัฐบาลโปรยุโรปของมอลโดวา เพิ่มความพยายามบั่นทอนเสถียรภาพและรณรงค์บ่อนทำลายอำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตาม ถ้ารัสเซียเลือกหนทางนี้ ถือว่ายากลำบากไม่น้อยกับประชากร 2.6 ล้านคน ของมอลโดวา และผู้ที่หนีมาจากยูเครนอีก 350,000 คน

“พวกเขาจะอ่อนแอมาก อาจมีการต้านทานเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย” คลินตัน วัตต์ส นักวิจัยจากสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ กล่าวและว่า มอลโดวามีจีดีพีต่อหัวต่ำสุดประเทศหนึ่งของยุโรป ขีดความสามารถทางการทหารน้อยกว่ายูเครนมาก  ดังนั้นการรุกรานมอลโดวาอาจเป็นการเปิดประตูหลังเข้าสู่ตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครน ซึ่งปูตินอาจกำลังมองหาแผนทางเลือกเนื่องจากความพยายามของรัสเซียล้มเหลวไม่สามารถล้อมกรุงเคียฟได้

 “พวกเขาอาจไม่ยึดกรุงเคียฟ แล้วพยายามไปล้อมเมืองโอเดสซาก่อน” นักวิเคราะห์รายนี้หมายถึงเมืองท่าทางภาคใต้ของยูเครน จากนั้นรัสเซียอาจพยายามยึดภาคใต้ของประเทศ หลังจากปิดเมืองมายโคไล ห่างจากโอเดสซาไปทางตะวันออก 130 กิโลเมตรแล้ว

“ผมคิดว่าเป็นไปได้มากกว่าที่เขาต้องการยึดภาคใต้ของยูเครนแล้วเอาไปรวมกับทรานส์นิสเทรีย ใช้ที่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นยึดมอลโดวา” วัตต์ส กล่าวเสริม

ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้น มอลโดวาก็ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับยูเครน ติดอยู่ในความขัดแย้งกับมหาอำนาจโลก ขณะที่พันธมิตรตะวันตกได้แต่มองอยู่ห่างๆ

“ภูมิภาคนี้ ณ ขณะนี้ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้สึกปลอดภัย” ประธานาธิบดี Maia Sandu ของมอลโดวา กล่าวเมื่อไม่กี่วันก่อนขณะพบกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ

เขาให้คำมั่นว่าสหรัฐจะสนับสนุนมอลโดวาที่ไม่กี่วันก่อนหน้านั้นเพิ่งสมัครสมาชิกอียูแบบเร่งด่วน แต่เมื่อไม่ได้เป็นทั้งสมาชิกอียูและนาโต ทั้งสององค์กรก็ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มากนัก

ที่สำคัญคือ สิ่งนี้ทำให้มอลโดวาต่างจากอดีตสหภาพโซเวียตอื่นๆ เช่น รัฐริมทะเลบอลติกอย่างลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ที่แสดงความกังวลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นจากเพื่อนบ้านรัสเซีย ทั้งสามรัฐเป็นสมาชิกอียูและนาโต ชี้ให้เห็นว่า พันธมิตรจะเข้ามาช่วยหากถูกรัสเซียรุกราน และนั่นทำให้มอลโดวาอยู่ในตำแหน่งที่ล่อแหลมหากตกเป็นเป้าหมายถัดไปของรัสเซีย

“คงไม่ใช่ภายใน 48 ชั่วโมงหรอก อาจเป็น 48 เดือนนับจากนี้” วัตต์ส สรุป

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์