‘ติดโควิด’เสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่าฉีด ‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’
ซีดีซีเผยผลการศึกษา คนที่ติดโควิด-19 มีความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและการติดเชื้อหัวใจอื่นๆ สูงกว่าคนที่ฉีดวัคซีนต้านโควิด
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) เผยผลการศึกษาชิ้นใหญ่จากหญิงและชายอายุตั้งแต่ 5 ปี พบว่า ความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และอาการอักเสบในหลายระบบหลังติดโควิดสูงกว่าหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา อย่างไรก็ตาม อาการของหัวใจเหล่านี้เกิดขึ้นยากไม่ว่าจะหลังติดเชื้อหรือหลังฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ การติดเชื้อในหลายระบบเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับติดเชื้อโควิดที่ส่งผลต่อระบบในอวัยวะหลายส่วน หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาเข็มที่ 2 มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กชายอายุระหว่าง 12-17 ปี อย่างไรก็ดี แม้แต่ในกลุ่มนี้ความเสี่ยงเกิดอาการหลังติดเชื้อยังสูงกว่าหลังฉีดวัคซีน
ในกลุ่มวัยรุ่นชาย อัตรากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังติดโควิดอยู่ที่อย่างน้อย 50 คนต่อประชากร 100,000 คน เทียบกับหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อัตราอยู่ที่อย่างน้อย 22 คนต่อประชากร 100,000 คน
ความเสี่ยงโดยรวมของภาวะหัวใจหลังติดเชื้อโควิดเพิ่มเป็นสูงขึ้นกว่า 5.6 เท่าเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ความเสี่ยงเพิ่มเป็นสูงขึ้นกว่า 69 เท่าเมื่อเทียบการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1
การศึกษาชิ้นนี้ซีดีซีตรวจสอบประวัติสุขภาพออนไลน์ของประชาชนอายุ 5 ปีขึ้นไปกว่า 15 ล้านคนในระบบดูแลสุขภาพ 40 ระบบ ระหว่างเดือน ม.ค.2564-ม.ค.2565 ศึกษาความเสี่ยงเกิดอาการโรคหัวใจหลังติดโควิดเทียบกับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาเข็มที่ 1 และ 2 ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นไม่นำมาศึกษาเปรียบเทียบ