เปิดลิสต์ประเทศเอเชียเสียหายเพราะสงครามยูเครน ไทยโดนด้วย!
รายงานชิ้นใหม่จากอีโคโนมิกอินเทลลิเจนซ์ยูนิตชี้ หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกอาจได้รับผลกระทบหนักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งก็ตาม ประเทศไทยก็พลอยติดร่างแหความเสียหายไปด้วย
รายงานจากอีไอยูระบุว่า ความเสียหายมีตั้งแต่ราคาอาหารไปจนถึงการท่องเที่ยวและอุปทานอาวุธ โดยเฉพาะราคาอาหารที่อ่อนไหวกับสงครามครั้งนี้เพราะทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์รายสำคัญทั้งคู่
หลายประเทศในเอเชียพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกปุ๋ยจากรัสเซีย การขาดแคลนปุ๋ยทั่วโลกดันให้ราคาสินค้าเกษตรและธัญพืชพุ่งสูงขึ้นแล้ว อีกทั้งภูมิภาคนี้ยังพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรค่อนข้างสูง แม้ไม่ได้สั่งตรงจากรัสเซียหรือยูเครน แต่การที่สินค้าขึ้นราคาก็เป็นเรื่องน่ากังวล
รายงานเตือนว่า รัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ จึงอาจเป็นเหตุให้ภาคเกษตรสะดุด
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูง ใครได้-ใครเสีย
ตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายเดือน ก.พ. ราคาน้ำมัน ก๊าซ และธัญพืชก็เพิ่มสูง รัสเซียและยูเครนครองสัดส่วนสำคัญในการจัดหาสินค้าเหล่านี้
สัญญาซื้อขายข้าวสาลีล่วงหน้าลดลงมาบ้างจากที่เคยพุ่งขึ้นตอนแรก แต่ก็ยังสูงกว่าปีก่อน 65% สัญญาซื้อขายข้าวโพดเพิ่มขึ้นกว่า 40% ในช่วงเดียวกัน บางประเทศเสียหายจากราคาพุ่งสูง อีกบางประเทศอาจได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาสูงขึ้น และโลกกำลังหาซัพพลายทางเลือก
นอกจากอาหารและพลังงานแล้ว อุปทานนิกเกิลก็ได้รับผลกระทบด้วยเพราะรัสเซียเป็นซัพพลายเออร์นิกเกิลรายใหญ่อันดับสามของโลก
ประเทศที่จะได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น
ผู้ส่งออกถ่านหิน: ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มองโกเลีย
ผู้ส่งออกน้ำมันดิบ: มาเลเซีย บรูไน
ก๊าซธรรมชาติเหลว: ออสเตรเลีย มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี
ซัพพลายเออร์นิกเกิล: อินโดนีเซีย นิวแคลิโดเนีย
ซัพพลายเออร์ข้าวสาลี: ออสเตรเลีย อินเดีย
ประเทศที่เสียหายมากที่สุดเมื่อราคาเพิ่มขึ้น (ข้อมูลการนำเข้าจากรัสเซีย/ยูเครน คิดตามสัดส่วนปี 2563)
ปุ๋ย: อินโดนีเซีย (กว่า 15%) เวียดนาม (กว่า 10%) ไทย(กว่า 10%) มาเลเซีย (ราว 10%) อินเดีย (กว่า 6%) บังกลาเทศ (เกือบ 5%) เมียนมา (ราว 3%) ศรีลังกา (ราว 2%)
ซีเรียลจากรัสเซีย: ปากีสถาน (ราว 40%) ศรีลังกา (กว่า 30%) บังกลาเทศ (กว่า 20%) เวียดนาม (เกือบ 10%) ไทย (ราว 5%) ฟิลิปปินส์ (ราว 5%) อินโดนีเซีย (ไม่ถึง 5%) เมียนมา (ไม่ถึง 5%) มาเลเซีย (ไม่ถึง 5%)
ซีเรียลจากยูเครน:ปากีสถาน (เกือบ40%)อินโดนีเซีย (กว่า 20%)บังกลาเทศ (เกือบ20%) ไทย (กว่า 10%) เมียนมา (กว่า 10%)ศรีลังกา (เกือบ 10%)เวียดนาม (ไม่ถึง 5%) ฟิลิปปินส์ (ราว 5%) มาเลเซีย (ราว5%)
อาวุธรัสเซีย
อีไอยูระบุว่า รัสเซียเป็นประเทศผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่อันดับสองของโลก เป็นผู้จัดหารายใหญ่ให้กับจีน อินเดีย และเวียดนามในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
การที่นานาชาติคว่ำบาตรบริษัทอาวุธรัสเซียจะขัดขวางการเข้าถึงอาวุธในอนาคตของประเทศเอเชีย แต่ก็สร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้ผลิตจากประเทศอื่นรวมทั้งผู้ผลิตในประเทศด้วย
ประเทศที่พึ่งพาอาวุธนำเข้าจากรัสเซียมากที่สุด ตั้งแต่ปี 2543-253 เรียงลำดับตามสัดส่วนการนำเข้าโดยรวม
มองโกเลีย (ราว 100%) เวียดนาม (กว่า 80%) จีน (เกือบ 80%) อินเดีย (กว่า 60%) ลาว (กว่า 40%) เมียนมา (ราว 40%) มาเลเซีย (กว่า 20%) อินโดนีเซีย (กว่า 10%)บังกลาเทศ (กว่า 10%) เนปาล (กว่า 10%) ปากีสถาน (ไม่ถึง 10%)
ขาดนักท่องเที่ยวรัสเซีย
แม้เส้นทางการบินเอเชียยังเปิดรับสายการบินรัสเซีย แต่นักท่องเที่ยวจากประเทศนี้อาจไม่มาชาวรัสเซียไม่อยากเดินทางเพราะได้รับความเสียหายจากเศรษฐกิจปั่นป่วน เงินรูเบิลอ่อนค่า และระบบชำระเงินระหว่างประเทศตัดรัสเซียออกจากระบบ
ธนาคารรัสเซียหลายแห่งถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ระบบเชื่อมต่อธนาคารทั่วโลกกว่า 11,000 แห่งในราว 200 ประเทศและดินแดน ขณะเดียวกันค่าเงินรูเบิลตอนเริ่มสงครามดิ่งลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ จากนั้นแข็งค่าขึ้นมาแต่ยังต่ำกว่าเมื่อตอนต้นปีราว 10% สะเทือนกระเป๋าประชาชนรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม เอเชียพึ่งพานักท่องเที่ยวรัสเซียน้อย ไทยเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดในภูมิภาคเมื่อปี 2562 นักท่องเที่ยวรัสเซียมาเยือน 1.4 ล้านคนแต่ก็ไม่ถึง 4% ของนักท่องเที่ยวมาไทยทั้งหมดในปีนั้น
เวียดนามตามมาเป็นอันดับสอง ขณะที่อินโดนีเซีย ศรีลังกา และมัลดีฟส์ติดอันดับท็อปไฟว์แหล่งท่องเที่ยวเอเชียยอดนิยมสำหรับคนรัสเซียด้วย
“ถ้าไม่มีความขัดแย้ง การท่องเที่ยวของชาวรัสเซียจะทวีความสำคัญ เนื่องจากตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนยังมาไม่ได้” อีไอยูระบุ