หนังเล่าโลก The Kashmir Files ‘ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม’
แต่ละครอบครัว สังคม ชุมชนล้วนผ่านเรื่องราวดีร้ายกลายเป็นประวัติศาสตร์เล่าขานจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง แต่จะเป็นอย่างไรถ้าบางเรื่องราวในอดีตถูกทำให้หลงลืมชนิดที่ลูกหลานเองก็ไม่ทราบว่าบรรพบุรุษเคยประสบเหตุใดมาบ้าง อย่างในภาพยนตร์อินเดียเรื่อง The Kashmir Files
The Kashmir Files ภาพยนตร์ปี 2565 ผลงานการกำกับของ Vivek Agnihotri บอกเล่าชะตากรรมของชนชั้นสูงวรรณะพราหมณ์แห่งแคชเมียร์ที่เรียกกันว่าบัณฑิตแห่งแคชเมียร์ (Kashmiri Pandit) ผ่านเรื่องราวของกฤษณะ บัณฑิต ชายหนุ่มลูกหลานชนชั้นสูง ผู้โชคร้ายพ่อ แม่ พี่ชาย ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เสียชีวิตทั้งหมด เหลือแต่ตัวเขาถูกพุชการ์ นาท บัณฑิต ผู้เป็นปู่นำไปเลี้ยงนอกแคชเมียร์ เมื่อปู่เสียชีวิตกฤษณะต้องนำอัฐิปู่กลับมาโปรยที่บ้านเกิดพร้อมเชิญเพื่อนรักของปู่ทั้งสี่คนมาร่วมพิธีด้วยตามคำสั่งเสียของผู้ตาย เพื่อนรักทั้งสี่และปู่ของกฤษณะที่บัดนี้เหลือแต่เถ้ากระดูกคือผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์วันที่ 19 ม.ค.2533 หรือวันแห่งการอพยพของชาวฮินดูแคชเมียร์ ทุกคนล้วนมีบทบาทเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันนั้นแตกต่างกันไปตามหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ แต่ภาพความโหดร้ายของเหตุการณ์ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของเพื่อนๆ ทั้งสี่ และเป็นความทรงจำสุดท้ายของพุชการ์ นาท ผู้ล่วงลับ
แต่สำหรับกฤษณะการถูกเลี้ยงดูนอกถิ่นเกิดทำให้เขาไม่รู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแคชเมียร์เลย แม้แต่อาหารท้องถิ่นระดับซิกเนเจอร์ของแคชเมียร์ก็ไม่รู้จัก สร้างความประหลาดใจให้กับเพื่อนๆ ของพุชการ์ นาท แต่ที่น่ากังวลใจสำหรับกลุ่มชายรุ่นเก่าทั้งสี่คนคือกฤษณะถูกอาจารย์มหาวิทยาลัยปลูกฝังเรื่องการเรียกร้องเสรีภาพให้กับแคชเมียร์ ทั้งยังแนะนำให้กฤษณะไปพบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของครอบครัวเขา เรื่องนี้ถือว่า “เกินทน” สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่ สุดท้ายแล้วเพื่อนๆของปู่จึงตัดสินใจเล่าความจริงเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่ครอบครัวกฤษณะต้องเจอว่าแท้ที่จริงแล้วพ่อ แม่ พี่ชายของเขาเสียชีวิตด้วยเหตุใด ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงชะตากรรมของครอบครัวกฤษณะเพียงครอบครัวเดียว แต่เป็นบาดแผลสำหรับบัณฑิตแคชเมียร์อีกหลายแสนคนที่ยังเจ็บปวดอยู่จนถึงทุกวันนี้
นี่คือเรื่องเล่าอย่างย่นย่อสำหรับ The Kashmir Files ที่ทำได้แบบไม่สปอยล์ สิ่งที่อยากจะเล่าต่อไปคือเบื้องหลังการชมภาพยนตร์อันถือได้ว่าเป็นประสบการณ์พิเศษสุดเท่าที่เคยเขียนหนังเล่าโลกมา เริ่มต้นจากเพื่อนใหม่ชาวอินเดียคนหนึ่งชวนผู้เขียนไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้แบบกะทันหัน ดูจบเราสองคนเห็นตรงกันว่าเป็นหนังที่หนักมีแต่เรื่องเครียด ผิดขนบหนังอินเดียทั่วไปที่ครบรส ทั้งยังมีฉากความรุนแรงชวนสลดหดหู่หลายฉากจนไม่แน่ใจว่าควรจะดูอีกรอบในการจัดฉายรอบพิเศษอีกหรือไม่ ไม่กี่วันหลังจากนั้นเราไปร่วมงานเสวนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย Vivek Agnihotri ผู้กำกับและ Pallavi Joshi (นักแสดงนำหญิงผู้รับบทรติกา เมนอน อาจารย์มหาวิทยาลัยที่คอยป้อนข้อมูลเรียกร้องเสรีภาพแคชเมียร์ให้กฤษณะ)
Pallavi Joshi ซึ่งเป็นภรรยาของผู้กำกับเล่าว่า เป็นหน้าที่ของผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต้องบอกเล่าความจริง เรื่องราวของบัณฑิตแคชเมียร์ถูกเล่าขานแค่ว่า พวกเขาอพยพออกจากบ้านเกิด ผู้คนเชื่อเรื่องเล่านี้มานานโดยไม่มีใครบอกว่า แท้จริงแล้วบัณฑิตแคชเมียร์ถูกบังคับให้อพยพ ภาพยนตร์เรื่อง The Kashmir Files ผ่านการวิจัยค้นคว้าข้อมูลนานถึงสี่ปี สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกว่า 700 คน ข้อมูลผ่านการสอบทานจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ภาพยนตร์สะดุดใจผู้ชมจำนวนมาก ตอนนำไปฉายรอบก่อนเปิดตัวที่สหรัฐ มีผู้ชมจากหลากหลายเชื้อชาติและประสบความสำเร็จอย่างสูง หนังต้องการบอกว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อความเป็นมนุษย์สูญสิ้นไป
ด้านผู้กำกับ Vivek กล่าวบนเวทีว่า ความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องของความหลากหลาย การก่อการร้ายเป็นความท้าทายใหญ่สุดต่อความเป็นมนุษย์ โลกสมัยใหม่ต้องไม่ทนกับความรุนแรง ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการบอกให้ทราบว่า 1) สิ่งที่เกิดขึ้นคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บัณฑิตแคชเมียร์ไม่ใช่แค่การอพยพย้ายถิ่น 2) เมื่อโลกทราบแล้วต้องยอมรับ เหมือนกับที่โลกยอมรับว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นมีอยู่จริง 3) ทุกคนต้องไปแคชเมียร์ได้โดยปราศจากความกลัว
นั่นคือสิ่งที่ได้จากเวทีเสวนา หลังจากนั้นผู้เขียนและเพื่อนมีโอกาสชม The Kashmir Files รอบที่ 2 จัดโดย Global Kashmiri Pandit Diaspora (Thailand GKPD) ที่ Vivek ผู้กำกับและ Pallavi นักแสดงนำหญิงมาปรากฏตัวด้วย ได้เห็นภาพผู้ชมชาวอินเดียในประเทศไทยมาชมกันอย่างคึกคัก ได้ยินผู้จัดงานซึ่งเป็นลูกหลานบัณฑิตแคชเมียร์ในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ด้วยความรู้สึกท่วมท้นจากหัวใจ เพราะเป็นเรื่องราวที่หลายคนยังไม่เคยรู้ ผู้เขียนเองก็พลอยสะเทือนใจไปด้วย หนังเล่าโลกวันนี้จึงถือเป็นการบันทึกบรรยากาศการชมภาพยนตร์ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่ต้องจดจำ