แรงงานไทย ยังตื่นตัวกับ AI น้อย

แรงงานไทย ยังตื่นตัวกับ AI น้อย

แม้ว่าตลาดแรงงานจะมีสัญญาณการจ้างงานดีขึ้น แต่ปัญหาการเลิกจ้างก็ยังคงมีให้เห็นเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการบางรายเริ่มนำ AI เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2569 องค์กรมากกว่า 80% จะมีการนำ AI มาปรับใช้

สถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ถ้าดูข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นตัวเลขของไตรมาส 4 ปี 2566 พบว่า การจ้างงานโดยรวมปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ โดยจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นเป็น 40.3 ล้านคน คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่ขยายตัว 2% กลุ่มโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวดีสุดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามามากขึ้น ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรขยายตัวได้ราว 1%

ส่วนชั่วโมงการทำงานก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมและขอภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 42.6 และ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.1% และ 1.2% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดลง โดยไตรมาส 4 ปี 2566 จำนวนผู้ว่างงานมีราว 3.3 แสนคน คิดเป็น 0.81% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ในระดับ 1.15% จึงนับเป็นการลดลงแบบมีนัยสำคัญ

ในขณะที่สถานการณ์การจ้างงานล่าสุด ณ สิ้นเดือนมี.ค.2567 ซึ่งเป็นข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ยังคงสะท้อนภาพในเชิงบวก โดยการจ้างงานและการว่างงานของผู้ประกันตน ม.33 “ปรับตัวดีขึ้น” จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะสาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร การค้า และการบริการ/การบริการสนับสนุน ที่ฟื้นตัวได้ดี แต่สถานการณ์ “การเลิกจ้าง” ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้างจากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสาขาที่ยังมีอัตราการจ้างงานและการเลิกจ้างสูง ได้แก่ โทรคมนาคม กิจกรรมไปรษณีย์และการรับส่งพัสดุภัณฑ์ รวมไปถึงการผลิตภาพยนตร์ วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น

ถ้าเจาะลึกลงดูไส้ในของการเลิกจ้าง จะพบว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ มีผลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ซึ่งในกลุ่มโทรคมนาคมเริ่มมีการนำ AI มาใช้ในกิจการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เราจึงเริ่มเห็นการลดจ้างงานของกลุ่มธุรกิจนี้ ซึ่งในอนาคตคงไม่ใช่แค่กลุ่มโทรคมนาคมอย่างเดียว เพราะมีอีกหลายกลุ่มธุรกิจที่เริ่มนำ AI มาใช้กับการทำงานที่เพิ่มขึ้น คำถามคือ แรงงานไทยตื่นตัวกับเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

เราพาไปดูการคาดการณ์ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งประเมินว่า ภายในปี 2569 องค์กรมากกว่า 80% จะมีการนำ AI มาปรับใช้ แน่นอนว่า ต้องมีแรงงานบางกลุ่มถูก AI เข้ามาทดแทน ที่สำคัญคงไม่ใช่เพียงแรงงานทักษะต่ำเท่านั้น เพราะเวลานี้แม้แต่แรงงานที่มีทักษะสูงก็เริ่มโดนผลกระทบจาก AI ด้วยเช่นกัน การจะเอาตัวรอดจากสงครามนี้ได้มีทางเดียว คือ เราต้องใช้ AI เหล่านี้ให้เป็น เวลานี้ผู้เชี่ยวชาญต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คนที่ใช้ AI เป็น คือ คนที่อยู่รอดได้ในอนาคต!