TIJ จัดเวทีระดมสมอง ปลดชนวนความรุนแรงในครอบครัว
"เขยโหด! ฆ่ายกครัวแม่ยาย 7 ศพไม่เว้นลูก"
"เมียทิ้งไปมีชายอื่น หวังฆ่ายกครัว 3 คนพ่อลูก โชคดีแม่ยายช่วยทัน"
"ญาติร่ำไห้ รับ 3 ศพถูกฆ่ายกครัวย่านมีนบุรี"
นี่คือตัวอย่างพาดหัวข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นเป็นคดีใหญ่สะเทือนสังคมเฉพาะในปีนี้เท่านั้น โดยพาดหัวสุดท้ายเป็นเหตุการณ์ฆ่ายกครัวล่าสุดเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานี่เอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นก็คือเรื่องราวที่เป็นข่าวโด่งดังเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง หมายถึงเป็นแค่ส่วนเดียวซึ่งอาจเป็นส่วนน้อยด้วยซ้ำของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ (Thailand Institute of Justice) ซึ่งเปิดหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือ TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development (RoLD) ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหานี้ จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ "มุมมองทางเพศต่อการสร้างสังคมปลอดภัย" เพื่อระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันหาทางคลี่คลายปัญหา โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ได้แก่ นายจะเด็ด เชาวน์วิไล จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และ นายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก เป็นวิทยากรพิเศษร่วมบรรยาย
นายจะเด็ด กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวว่า จากการรวบรวมสถิติผ่านข่าวสารที่เผยแพร่อยู่ทั่วไประหว่างปี 2555 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีเหตุฆาตกรรมภายในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เป็นคดีที่ฝ่ายสามีฆ่าภรรยา และมีแนวโน้มจะเกิดเหตุฆาตกรรมยกครอบครัว หรือ "ฆ่ายกครัว" เพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุหลักเกิดจากการบันดาลโทสะและหึงหวง ทั้งยังมีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ขณะที่ฝ่ายภรรยาที่ฆ่าสามีหรือทำร้ายคนในครอบครัว มักเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเอง หรือเกิดจากความเครียดสะสมที่สามีไม่มีความรับผิดชอบ ใช้ความรุนแรง หลายรายถูกสามีทำร้ายอย่างต่อเนื่อง จนทนไม่ไหวต้องตอบโต้ และสุดท้ายกลายเป็นฝ่ายผิดเสียเอง กระทั่งมีคำถามเรื่องความเป็นธรรมตามมา
ตัวอย่างข้อมูลเชิงสถิติที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวมสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวรอบ 1 ปี เมื่อปี 2559 เป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทย 13 ฉบับ พบว่ามีข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 466 ข่าว (มากกว่าวันละ 1 ข่าว) ในจำนวนนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 86 ข่าว หรือร้อยละ 18.5 และหากจำแนกความรุนแรง พบว่าร้อยละ 71.8 เป็นความรุนแรงที่สามีกระทำต่อภรรยา
นายจะเด็ด กล่าวอีกว่า ยังมีความรุนแรงที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ถูกกระทำ โดยเฉพาะคดีข่มขืน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วหลายๆ กรณียังถูกครอบครัว คนรอบข้าง หรือแม้แต่คนในสังคมมองว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายผิด เช่น แต่งตัวไม่ดีเอง หรือไปเดินในที่เปลี่ยว ทั้งหมดนี้สะท้อนปัญหา "ทัศนคติผู้ชายเป็นใหญ่" ที่ซ้อนทับอยู่กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงต่อผู้หญิง
ข้อสังเกตนี้ชัดเจนจากบทวิเคราะห์ของนายจะเด็ด และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่สรุปว่าความรุนแรงทางเพศที่นำไปสู่การฆาตกรรมมีสาเหตุใหญ่ 3 ประการ คือ 1.การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา เมื่อฝ่ายหญิงถูกทำร้ายแล้วไปแจ้งความ ตำรวจมักไม่รับแจ้งความ กระทั่งเกิดเหตุซ้ำซ้อนหลายครั้ง และสุดท้ายนำไปสู่การเสียชีวิต 2.ทัศนคติที่ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ดังนั้นแม้ชุมชนจะทราบว่าครอบครัวใดกำลังประสบปัญหาความรุนแรง ก็จะไม่เข้าไปช่วยเหลือ และ 3.กลไกของรัฐยังไม่เพียงพอต่อการดูแลและเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม ต่างมีกลไกของตนเองในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ แต่กลับไม่มีการบูรณาการกลไกต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลเหยื่ออย่างครบวงจร
ขณะที่ นายวันชัย มองปัญหาในทิศทางเดียวกันว่า ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นมาจากทัศนคติเรื่อง "ชายเป็นใหญ่" ยิ่งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่เป็นผู้ชายด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดปัญหาในการทำสำนวนคดีและอำนวยความยุติธรรม
"คดีหนึ่งที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องตอนที่เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็คือคดีที่ฝ่ายภรรยาถูกสามีทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีกจนทนไม่ไหว ต้องไปจ้างญาติมาฆ่าสามี สุดท้ายโดนจับทั้งคู่ มีคดีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ติดคุกมาแล้ว 20 กว่าปีก็ทำเรื่องขออภัยโทษไม่ได้ เพราะเป็นคดีที่วางแผนตระเตรียมการกันไว้ก่อน เรื่องลักษณะนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติในการมองปัญหาด้วย แต่ปัจจุบันมีผู้หญิงจำนวนมากที่ได้เข้ามาทำงานในแวดวงกระบวนการยุติธรรม จึงเชื่อว่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ในอนาคต"
บทสรุปจากเวทีเสวนามุ่งไปที่เรื่อง "ทัศนคติ" ซึ่งแนวทางแก้ไขต้องเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้าใจ
"การออกมาสื่อสารกับสังคม คนพูดที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือคนที่ประสบปัญหาโดยตรง ซึ่งด้านหนึ่งจะช่วยให้สังคมเข้าใจได้ โดยเฉพาะชุมชนที่ต้องมีบทบาทร่วมกัน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าตนเองมีพลังที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง และทำให้อยากช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน" นายจะเด็ด กล่าว
การมุ่งปรับ "ทัศนคติ" หรือ "เจตคติ" ของสังคมไทยเพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็ก และคนในครอบครัว เป็นพันธกิจที่ TIJ ขับเคลื่อนมาตลอด ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ เล่าว่า การขจัดความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งในกรอบแผนงานของ TIJ โดยใช้มาตรฐานการปฏิบัติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เกี่ยวกับการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ซึ่ง TIJ มีส่วนยกร่างผลักดันในเวทีโลก เป็นพื้นฐานในการทำงาน เพราะ TIJ เชื่อว่าการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทุกคนในสังคมที่ต้องประสานมือช่วยกันแก้
"หลักการขับเคลื่อนงานเรื่องนี้ของ TIJ คือให้ความสำคัญกับการปรับเจตคติ และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของทั้งหญิงและชาย" ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว พร้อมยกตัวอย่างกิจกรรมที่เคยขับเคลื่อนกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อโครงการ SpeakUp SpeakOut โดยมีหลักคิดว่า ฝ่ายผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาพูดเพื่อยืนหยัดต่อสู้เมื่อสิทธิ์ของตนถูกละเมิด ขณะที่ผู้ชายเองก็ต้องไม่นิ่งเฉย ต้องลุกขึ้นมาพูดและสู้ไปกับผู้หญิงด้วย
พร้อมกันนั้นก็ได้สร้าง Toolbox หรือ "กล่องคู่มือ" เพื่อให้ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีความอ่อนไหวทางเพศภาวะ (gender sensitive) แก่ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม และช่องทางการช่วยเหลือเหยื่อ
นี่คือภารกิจของ TIJ ที่เน้นปรับทัศนคติและเปลี่ยนมุมมองเรื่องความเป็นชายแบบผิดๆ เพื่อมุ่งสู่ความเสมอภาคระหว่างชายหญิง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการสร้างสังคมนิติธรรมที่เป็นธรรมและสงบสุข