ปตท. เตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดการค้า Carbon Credit สอดรับนโยบาย Net Zero Emission
เมื่อสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อธุรกิจคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะการซื้อขายที่ก่อให้เกิดสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ สู่สิ่งแวดล้อมที่องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญ
ความสำคัญและการตื่นตัวของภาคธุรกิจนี้มาจากการตื่นตัวในการดูแลชั้นบรรยากาศของโลกของนานาประเทศผ่านพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี 1997 โดยสาระสำคัญคือการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง (Greenhouse Gases: GHG) ให้ได้ 5% เทียบกับปริมาณการปล่อยในปี 1990 เช่นเดียวกับการประชุมที่กรุงปารีส (COP 21) เมื่อปี 2015 ซึ่งมีการเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ (Paris Agreement) เป็นการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ มีการคาดการณ์ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิต้องเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2050
คำว่า ‘Net Zero’ นี้ไม่ได้หมายถึงการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยหากแต่หมายถึงการพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจะต้องได้รับการปรับสมดุลให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับหรือถูกนำออกจากระบบ เพื่อให้ผลรวมสุทธิเป็นศูนย์
ทำให้นานาประเทศต่างออกมาประกาศเป้าหมาย Net Zero ของตนเอง โดยประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า มีการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล (ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งใหญ่ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ - Carbon Dioxide ที่เป็นก๊าซหลักของ ก๊าซเรือนกระจก) ในสัดส่วนน้อย เช่น ประเทศในแถบ สแกนดิเนเวีย มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero ไว้ในช่วงปี 2030-2045
รายชื่อประเทศที่ประกาศ Net Zero (Source: https://eciu.net/netzerotracker)
ขณะที่อีกหลายๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ตั้งเป้าหมาย Net Zero ไว้ในปี 2050 เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศต่างออกกฎระเบียบเพื่อรองรับและเป็นเครื่องมือบังคับใช้ เช่น ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมกับผู้ที่ปล่อยคาร์บอนมากเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต หรือเรียกเก็บภาษีในภาคธุรกิจที่มีการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก และในบางประเทศมีตลาดภาคบังคับ (Compliance Market) ใช้ระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) ซึ่งเป็นระบบ Cap and Trade โดยอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย (Cap) สามารถขายสิทธิ์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลือให้แก่ผู้อื่นได้ ก๊าซเรือนกระจกที่ทำการซื้อ-ขาย (Trade) นี้ เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งหลักการนี้ เป็นจุดกำเนิดของการประเมินมูลค่าของคาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 1 ตัน เป็นตัวเงินเพื่อซื้อขายระหว่างบริษัทที่อยู่ในภาคบังคับด้วยกัน
ในประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งองค์กรสำคัญด้านพลังงานของไทยก็ได้ศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนโยบายของกลุ่ม ปตท. และของประเทศไทยในการก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต โดยหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. ได้ทำการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดคาร์บอนเครดิตอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดการค้าคาร์บอนเครดิต
ทั้งการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าผ่านตลาดอนุพันธ์ ICE ซึ่งเป็นตลาดที่ ปตท. มีบัญชีสำหรับการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าอยู่แล้ว และยังมีบริษัท PTT International Trading London Ltd. (PTTT LDN) ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อันเป็นศูนย์กลางการค้าอนุพันธ์ในทวีปยุโรปที่สามารถช่วยสนับสนุนและรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ทันทีที่มีความต้องการ รวมทั้งการซื้อขายผ่านตลาด Over The Counter ที่ ปตท. มีเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่เริ่มเตรียมความพร้อมในด้านนี้เช่นเดียวกัน
การเดินหน้าของ ปตท.นี้ เกิดขึ้นเช่นเดียวกับองค์กรหรือบริษัทที่มีนโยบายมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักการ Environment, Social, and Governance (ESG) แบบเดียวกับบริษัทระดับโลก เช่น Microsoft, Apple และ Google ทำการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อม
เช่นเดียวกับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่บริษัท S&P Global Platts ซึ่งเป็นผู้ประกาศราคาอ้างอิงสำหรับการซื้อขายน้ำมันรายใหญ่ของโลก ได้เริ่มทำการประกาศราคาเพื่อใช้อ้างอิงในการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต สำหรับโครงการ Carbon Offsetting & Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Platts ได้ประกาศราคาคาร์บอนเครดิตอีกสองประเภท คือ ราคาคาร์บอนเครดิตจากโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Nature-Base Carbon Credits) และคาร์บอนเครดิตสำหรับการซื้อขายเที่ยวเรือ LNG แบบไร้คาร์บอน (Carbon Neutral LNG) การประกาศดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเริ่มเป็นที่นิยมและอาจมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต