สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

 

ถ้าถือเอาวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 เป็นวันแรกของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน  มาถึงวันนี้เวลาก็ล่วงมาหนึ่งปีแล้ว  สงครามยกแรกเกิดขึ้นเมื่อสำนักงานศุลกากรและพิทักษ์ชายแดนของสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษี 25% จากสินค้าจีน 818 รายการคิดเป็นมูลค่าราว 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเครื่องจักร ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมพลังงาน จีนได้ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ จำนวน 545 รายการ  โดยสินค้าที่เข้าข่ายการเก็บภาษีเป็นสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากทะเล และรถยนต์  คิดเป็นมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่ากัน 

หลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็มีการใช้มาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษี ควบคู่ไปกับการกดดันทางอ้อม เช่น การเพิ่มรายชื่อบริษัทของจีน 44 แห่งที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ การใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงการจัดให้บริษัทหัวเหว่ยอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ห้ามใช้เทคโนโลยีจากบริษัทสหรัฐฯ โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล เป็นต้น 

แม้ว่าจะมีการพักยกเพื่อเจรจากันบ้าง มีการผ่อนปรนในบางเรื่อง เช่น ในการประชุม G20 ครั้งล่าสุดที่ประเทศญี่ปุ่น แม้สหรัฐฯ ยอมให้บริษัทหัวเหว่ยสามารถซื้ออุปกรณ์ของสหรัฐฯ ได้อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ถูกถอดออกจากบัญชีรายชื่อ จึงอาจกล่าวได้ว่า การเจรจาผ่อนปรนช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่ไม่สามารถนำมาสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนในระยะยาวได้

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนเหล่านี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ สงครามการค้าไม่ได้ส่งผลดีกับฝ่ายไหนเลย สหรัฐฯ ก็เสียหาย จีนก็ได้รับผลกระทบ แถมประเทศอื่นยังพลอยโดนผลทางอ้อมจากการที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจตอบโต้กันไปมาแบบนี้ด้วย ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบนี้

หากประเมินจากช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยโดยตรงยังไม่รุนแรงมากจนถึงขั้นน่าเป็นห่วง บทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในระยะสั้นสินค้าที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ผู้ผลิตในประเทศไทยส่งออกไปสนับสนุนการผลิตในประเทศจีน ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มของเครื่องใช้ไฟฟ้า  อิเล็กทรอนิกส์  และแผงวงจร

บทวิเคราะห์ดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า สินค้ากลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์จากสงครามการค้าได้แก่สินค้าที่สามารถทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐอเมริกาได้ เช่น สินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิคส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สำหรับสินค้าไทยที่สามารถทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ในตลาดจีนได้ ได้แก่ ผลไม้สดและผลไม้เมืองร้อน ซึ่งสามารถเข้าไปทดแทนสินค้าเกษตรที่จีนเคยนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้ในระดับหนึ่ง

 

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย

แม้ว่าหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยในระยะสั้นจะมีไม่มากนัก แต่สถิติการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้กลับมีค่าติดลบราวร้อยละ 2.7 โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านติดลบถึงร้อยละ 5.8 ถือเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากสงครามนี้ยังยืดเยื้อต่อไป  ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะขยายเป็นวงกว้างและมีความรุนแรงมากขึ้นในหลายด้านด้วยกัน

ผลกระทบด้านแรก คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะชะลอตัวลง เป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นเป็นหัวจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสองประเทศนี้ได้รับผลกระทบ ยอดการส่งออกลดลงจนส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของประเทศเหล่านั้นตามไปด้วย สุดท้ายแล้วแม้แต่ประเทศที่ไม่ได้พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนก็จะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นชะลอตัวลงตามไปด้วย เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของประเทศไทย สงครามการค้าที่ยืดเยื้อจึงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบด้านที่สอง คือ บรรยากาศด้านการลงทุน การลงทุนเป็นเรื่องของการตัดสินใจระยะยาว  หากนักลงทุนคาดการณ์ว่าสงครามการค้าครั้งนี้คงไม่ยืดเยื้อ ก็จะไม่เปลี่ยนแผนการลงทุน ช่วงที่เริ่มเกิดสงครามการค้าขึ้น นักลงทุนจำนวนไม่น้อยคาดการณ์ว่าเรื่องนี้จะสามารถจบลงได้ในเร็ววัน หากความขัดแย้งนี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ กันต่อไปเรื่อย นักลงทุนก็ต้องหาวิธีลดความเสี่ยงลงด้วยการย้ายเงินลงทุนและฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นเพื่อให้ยังสามารถทำธุรกิจกับสหรัฐฯ และจีนได้ต่อไป 

เรื่องนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทย ประเทศไทยยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าซึ่งประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังทั้งสองประเทศได้ จึงอาจดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนเพื่อผลิตสินค้าเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของประเทศไทยก็คือ นักลงทุนมีทางเลือกในการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมกันหามาตรการจูงใจที่เหมาะสมมาดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเหล่านี้ให้เข้ามา โดยพิจารณาว่าเงินลงทุนในธุรกิจใดบ้างที่จะมาช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้ดีที่สุด ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ประเทศไทยต้องเสนอให้กับนักลงทุนเหล่านี้

ผลกระทบด้านที่สาม คือ การจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกขึ้นมาใหม่ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ สินค้าส่งออกจำนวนไม่น้อยในตลาดโลกไม่ได้ผลิตขึ้นมาภายในประเทศเดียวทั้งหมด  มีการแยกผลิตตามความได้เปรียบด้านต้นทุนในการผลิตของประเทศ หากประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจนทำให้ความได้เปรียบด้านต้นทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัด  ผู้ผลิตในประเทศเหล่านั้นอาจโดนแทนที่ด้วยผู้ผลิตในประเทศอื่นที่มีความได้เปรียบมากกว่า จนทำให้ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเปลี่ยนโฉมหน้าไป อาจส่งผลต่อผู้ผลิตในประเทศไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเหล่านี้

ผลกระทบด้านที่สี่ คือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน หากย้อนกลับไปดูทิศทางการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทและเงินตราสกุลอื่นในเอเชีย จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์สงครามการค้า เป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางการเงินให้กับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ 

ผลกระทบด้านที่ห้า คือ การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงมากจนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง หรือมีการลดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวลง ย่อมส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศอื่น หากการตัดสินใจมาท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านั้นแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้ก็อาจลดลงตามไปด้วย

นอกจากนี้แล้ว หากผลกระทบด้านต่างๆ ของสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวไทยเองก็อาจลดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ  หรือลดรายจ่ายในการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน 

ผลกระทบด้านที่หก คือ การจ้างงานและการกระจายรายได้ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการค้าการลงทุนที่ลดลง ประกอบกับการลดลงของนักท่องเที่ยว จะส่งผลต่อการจ้างงานให้ลดลงจากการหดตัวของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานประจำ  หรือทำงานประจำที่ใช้ทักษะไม่สูงนัก ในกรณีที่ไม่โดนเลิกจ้าง  นายจ้างก็อาจเลือกใช้วิธีการไม่ขึ้นเงินเดือนตามที่ควรจะเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ระดับรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้เพิ่มช้ากว่ากลุ่มอื่น  ส่งผลให้การกระจายรายได้ระหว่างแรงงานแต่ละกลุ่มมีความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น

ปัญหาการกระจายรายได้อีกมิติหนึ่งก็คือ การกระจายรายได้ในเชิงภูมิภาค เพราะแต่ละภูมิภาคจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไม่เท่ากัน พื้นที่ไหนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง หรือเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกมาก ก็จะได้รับผลกระทบมากตามไปด้วย 

นอกจากนี้แล้ว การที่เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ย่อมทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลง ซึ่งอาจทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรและสินค้าพื้นฐานในชีวิตประจำวันลดลง ภูมิภาคไหนที่มีมูลค่าการผลิตสินค้าเหล่านี้สูงก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

ผลกระทบด้านที่เจ็ด คือ การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาของบริษัทลดลง ในเมื่อทิศทางการค้าการลงทุนโลกยังไม่มีความชัดเจน ประกอบกับการที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจส่งผลให้บริษัทเลื่อนการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาออกไป ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ควรจะเป็นตามไปด้วย

ผลกระทบด้านที่แปด คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ผลกระทบทั้ง 6 ด้านที่กล่าวมีผลต่อธุรกิจแตกต่างกัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีทรัพยากรน้อย มีความสามารถในการปรับตัวจำกัด ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่าในทุกด้าน

 

แนวทางการปรับตัว

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามการค้า การปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นมีหลายด้านด้วยกัน ส่วนของภาครัฐมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบอยู่แล้ว ดังนั้นข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวจะเป็นข้อเสนอสำหรับภาคธุรกิจเท่านั้น

การปรับตัวด้านแรก คือ การกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายฐานลูกค้า ธุรกิจควรมีการขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศไปยังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางการค้าน้อย เช่น การจับกลุ่มลูกค้าภายในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ด้วยการปรับรูปแบบของสินค้าให้มีความน่าดึงดูดใจ มีคุณภาพสูงขึ้น มีการออกแบบที่ดีขึ้น รวมถึงการขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศไปยังประเทศอื่นในอาเซียน เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง 

การปรับตัวด้านที่สอง คือ การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยง เช่น การค้าขายโดยทำข้อตกลงการชำระเงินเป็นเงินบาท การใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือการระบุเงื่อนไขในการชำระเงินให้ยืดหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

การปรับตัวด้านที่สาม คือ การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการทำธุรกิจในช่วงที่ยอดขายลดลงมาก หรือมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มมากขึ้นจนต้องขยายการผลิตในระยะสั้น ซึ่งอาจรวมไปถึงขอวงเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจากสถาบันการเงิน

การปรับตัวด้านที่สี่ คือ การหาพันธมิตรในต่างประเทศเพื่อเป็นคู่ค้า การมีธุรกิจในต่างประเทศจะช่วยให้การนำเข้าและส่งออกสินค้ามีความสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว พันธมิตรในต่างประเทศยังช่วยลดต้นทุนในการทำตลาด ลดความเสี่ยงในด้านยอดขายได้ด้วย โดยอาจมีการทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับมูลค่าของสินค้าที่จะนำเข้ามาขายในประเทศไทยให้กับธุรกิจที่เป็นพันธมิตร และมูลค่าของสินค้าที่พันธมิตรจะขายให้ในตลาดต่างประเทศ 

การปรับตัวด้านที่ห้า คือ การติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ในช่วงเวลาที่มีแต่ความไม่แน่นอนเช่นนี้ การติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้สามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงที สามารถมองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ เพราะความรวดเร็วในการปรับตัวคือหัวใจสำคัญของเอาตัวรอดท่ามกลางสงครามการค้า

 

ควรมองการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส

มีสุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อต้องเผชิญกับสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง หลายคนเลือกจะสร้างกำแพงป้องกันตัวเอง แต่ก็มีบางคนที่เลือกสร้างกังหันเพื่อใช้ประโยชน์จากสายลมที่พัดมา”  เศรษฐกิจไทยที่ตกอยู่ท่ามสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนก็เช่นกัน เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้น สิ่งที่ทำได้คือการสร้างกังหันลมให้เร็วที่สุดเพื่อให้สายลมที่พัดมาหมุนกังหันแห่งโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม

ผู้เขียน: เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัย มหาวิทยาลัยกุ้ยหยาง