หนุนคนไร้บ้าน ฝ่ากระแสโควิด ตั้งจุดเยียวยาใจ สร้างโอกาส สร้างงาน
ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น สะท้อนให้เห็นว่าเราทุกคนมีโอกาสได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน อยู่ที่แต่ละคนจะได้รับผลกระทบหนักหรือเบาแตกต่างกันไป
แต่ปัจจุบัน นอกจากความหวาดวิตกของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด ดูเหมือนชิดซ้าย เพราะเรื่อง “ปากท้อง” นั้น “เฉพาะหน้า” มาแรงกว่า และกำลังเป็นอีกความกดดันสำคัญเสียยิ่งกว่าโควิดไปแล้ว
โควิดกำลังฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย วันนี้เริ่มมีข่าวคราวออกมาว่า หลายหน่วยงาน หลายองค์กร ทยอยประกาศปิดกิจการ หรือเลิกจ้างต่อเนื่อง เป็นผลให้คนจำนวนมากไม่มีงาน ไม่มีรายได้ บางรายไม่มีครอบครัวให้กลับไปพึ่งพิง ซึ่งหากไม่เกือบอดตาย ก็อาจสุ่มเสี่ยงกลายเป็น “คนไร้บ้าน” ในไม่ช้า
จนมีคนพยากรณ์ไว้ว่า อีกไม่นานประเทศไทยเราอาจมีจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30 %
เรื่องนี้มิใช่ข้อมูลยกเมฆลอย ๆ แต่มีการคาดการณ์มาแล้วจริง จากการศึกษาวิจัยภายใต้แผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานเครือข่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน ซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒร่วมกันจัดทำขึ้น พบว่าจำนวนประชากรคนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 โดยปัจจัยที่ทำให้คนไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้นเกิดจากภาวะการว่างงานและการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย หลังพ้นโควิด
ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลว่า จากการใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการพยากรณ์โอกาสในการเป็นคนไร้บ้านในสถานการณ์โรคโควิด-19ระบาด โดยใช้ฐานข้อมูลคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีการรายงานว่ามีประมาณ 1,307 คน และการคาดการณ์ตัวเลขถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีการประเมินว่าจะอยู่ที่ 5 % ซึ่งแบบจำลองทำนายว่าในสถานการณ์เช่นนี้จะมีคนไร้บ้านประมาณ 1,484 คน หรือเพิ่มขึ้นราว 30 % อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้เป็นการคาดการณ์ย่อมมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าคนไร้บ้านมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงอยู่ในระดับนี้
“ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์โรคโควิด-19 ไม่ได้เป็นแค่เรื่องโรคระบาดและสุขภาพ แต่เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและและสังคม ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมชีวิตประจำวันได้ตามปกติ รวมถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เกิดภาวะชะงักงัน ห้างร้านต่างก็ปิด เริ่มกระทบต่อทั้งชีวิตและรายได้”
ผศ.ดร.พีระ อธิบายต่อว่า หากเจาะในมุมของคนไร้บ้านก็จะมี 2 มุม คือ 1.มุมของคนที่เป็นคนไร้บ้านเดิมอยู่แล้ว ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย เริ่มจากช่วงต้นเมื่อเกิดโรคระบาด ทุกคนจะต้องมีการหาแนวทางในการรับมือ หาเครื่องมือในการป้องกัน คือ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การเป็นคนไร้บ้าน กลุ่มเปราะบาง และมีรายได้น้อยย่อมเข้าถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ยากมากขึ้น ภาครัฐก็ต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือด้วยการช่วยให้เข้าถึงการป้องกันจะได้มีสิทธิ์ในการป้องกันโรคเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ กลุ่มคนไร้บ้านยังได้รับผลกระทบในเรื่องของ 2 อา ด้วย คือ อาชีพเมื่อกิจการหลายส่วนต้องหยุดกิจการชั่วคราว จึงกระทบต่อคนไร้บ้าน ทำให้ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ และอาหารในการใช้ชีวิต เนื่องจากก่อนที่จะเกิดวิกฤติ มีการขายอาหารจำนวนมากและมีสถานที่แจกอาหารจำนวนมาก คนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยการไปรับอาหารแจกหรือซื้ออาหารในราคาถูก แต่เมื่อร้านอาหารและสถานที่แจกอาหารน้อยลง โอกาสที่จะได้รับอาหารจึงน้อยลงด้วย
2.มุมของคนที่เสี่ยง คนเปราะบาง คนที่มีรายได้น้อย กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ที่อาจจะเสี่ยงกลายเป็นคนไร้บ้าน จากการที่เป็นกลุ่มคนอาจจะประกอบอาชีพแบบหาเช้ากินค่ำ มีรายได้ไม่แน่นอน มีเงินเก็บไม่เพียงพอ เมื่อมีการปิดห้าง ร้านและกิจการต่าง ๆในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงกระทบต่ออาชีพทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจแห่กลับต่างจังหวัด ซึ่งเหตุผลหลักเป็นเพราะถูกเลิกจ้าง ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะจ่ายค่าที่พัก อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้จะมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่อยู่เพียงลำพัง ไม่มีภูมิลำเนา หรือครอบครัวในต่างจังหวัดให้กลับไป บวกกับมีเงินเก็บไม่เพียงพอ และมีหนี้ผ่อนชำระ
“ในสถานการณ์เช่นนี้จุดหมายปลายทางของคนกลุ่มนี้จะไปที่ไหน จึงกังวลว่าจะกลายเป็น คนไร้บ้าน ซึ่งการที่คนหนึ่งคนจะกลายเป็นคนไร้บ้าน นั่นคือปลายทางของปัญหา จากการที่ไม่มีรายได้และไม่มีครอบครัวที่คอยให้การสนับสนุน ซึ่งการที่คนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นดัชนีชี้วัดเศษฐกิจแบบหนึ่ง เพราะสะท้อนสังคมเศรษฐกิจที่ไม่มีรายได้อย่างรุนแรง” ผศ.ดร.พีระกล่าว
เช่นเดียวกับคนที่คลุกคลีวงในคนไร้บ้านอย่าง นพพรรณ พรหมศรี มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ยอมรับว่า มีโอกาสที่คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยที่ตกงาน จะกลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ทั้งมีแนวโน้มอาจต้องเป็นคนไร้บ้านถาวรในอนาคตจริง
“ในกลุ่มคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยมาก ๆ กลุ่มหนึ่ง เมื่อก่อนเขายังพอมีรายได้ จึงพอมีเงินเช่าห้องพักราคาถูกได้ แต่พอตกงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าห้อง จึงอาจหลุดมาเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจยังเป็นแบบนี้ หรือเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า หรือกิจการต่าง ๆ ไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้แบบเดิม เขามีโอกาสจะเป็นมาเป็นคนไร้บ้านระยะยาวแน่นอน”
พรพรรณยังเล่าถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับคนไร้บ้านให้ฟังว่า ช่วงแรกที่เกิดโควิด มีการระบาด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนไร้บ้าน แต่คนจนหรือคนทั่วไปก็เข้าไม่ถึง หน้ากากขาดตลาดราคาแพง ตอนนั้นจึงเริ่มรวมกลุ่มกันทำหน้ากากผ้า เพื่อแจกจ่ายกัน
“แต่ช่วงที่เดือดร้อนหนักที่สุด คือช่วงล็อคดาวน์ ที่ทุกอย่างหยุดหมด ทำให้คนไร้บ้านเข้าไม่ถึงอาหาร เพราะร้านค้าปิดหมด อาหารที่เคยได้รับบริจาคก็ไม่ได้ หรือแม้แต่น้ำดื่มที่เคยเข้าไปขอจากหน่วยงานสาธารณะ หรือภาครัฐก็ปิดทำการหมด จนทำให้คนไร้บ้านไม่มีน้ำดื่ม” นพพรรณ บอกเล่า
ด้าน ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายคนถูกเลิกจ้างงาน ขาดรายได้โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ หลายคนมาจากต่างจังหวัดเข้ามาเช่าห้องพักในกรุงเทพฯ เมื่อรายได้ลดลง หรือไม่มีรายได้ทำให้พวกเขาไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยได้ หลายคนจึงจำต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด หากไม่มีกลไกหรือมาตรการรองรับ
ซึ่ง สสส. โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ จึงร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายคนไร้บ้าน และเครือข่ายสลัม 4 ภาค พัฒนากลไกและมาตรการรองรับสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น ได้แก่ 1) พัฒนาจุดจัดการให้ความช่วยเหลือคนจนเมือง กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เช่น คนตกงาน และคนไร้บ้านทั้งการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพเบื้องต้น การให้ที่พักอาศัยชั่วคราว และระดมทรัพยากรที่เหมาะสมในการสนับสนุนช่วยเหลือในพื้นที่ 76 ชุมชน 11 จังหวัดครอบคลุมกลุ่มที่ประสบปัญหากว่า 2 หมื่นคน 2) พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการสถานการณ์เมื่อต้องเผชิญวิกฤตจากโรคอุบัติใหม่ 3) พัฒนาเครือข่ายอาชีพในชุมชนเพื่อสร้างรายได้และ 4) การสร้างพื้นที่การเกษตรในชุมชนแออัดสำหรับการพึ่งตนเอง และความมั่นคงทางอาหารเพื่อรองรับวิกฤตจากโรคอุบัติใหม่
ด้านนพพรรณ อธิบายต่อว่า ปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้เริ่มดำเนินการตั้งหลักและตั้งจุดจัดการให้ความช่วยเหลือคนจนเมือง กลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น คนตกงาน และคนไร้บ้าน ที่มูลนิธิฯซอยรามคำแหง 39 มาตั้งแต่ต้นปี 2563 เริ่มด้วยการทำงานประสานกับเครือข่ายสลัมสี่ภาค เพื่อให้ชุมชนทั้งกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดในเครือข่ายสำรวจการได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนแบบเร็วๆ พบว่า ความเดือดร้อนหลัก คือไม่มีรายได้ ตกงาน รายได้ลด เป็นสิ่งที่คนจนกังวลมากที่สุด มากกว่าการไม่มีอุปกรณ์ในการป้องกันโรค
“โชคดีที่มีบุคคลและองค์กรที่เห็นความสำคัญมาช่วยบริจาคเยอะพอสมควร เราจึงจัดระบบให้กระจายทั่วถึง และเรายังแบ่งปันอาหารให้คนกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เช่น สมาชิกในชุมชนที่ขาดอาหาร โดยศูนย์กลางคนไร้บ้านจะเป็นตัวกลางในการช่วยบริหารจัดการ”
จุดจัดการให้ความช่วยเหลือคนจนเมือง จึงเริ่มต้นขึ้นและดำเนินการใน 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.การให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า ระยะสั้น เป็นการแก้ปัญหาความลำบากเรื่องของการไม่มีข้าวกิน ด้วยการรับบริจาคอาหารและสิ่งของจำเป็นต่อการป้องกันโรค ทั้งรับบริจาคอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากากผ้า เงิน อาหาร ข้าวสาร และอื่นๆ และ2.การมองหาเงื่อนไขและโอกาสการสร้างงานในชุมชนของตนเอง เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนที่ตกงานหรือรายได้ลดลง อาทิ ในชุมชนหนึ่งของกรุงเทพฯมีการชักชวนคนที่ตกงานแต่มีความสามารถในการเย็บผ้าและมีจักรเย็บผ้ามารวมกลุ่มกันเย็บหน้ากากผ้า เพื่อแจกจ่ายให้กับคนที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเองหรือขายในราคาถูกให้กับคนในชุมชนที่ยังพอมีกำลังซื้อได้ ขณะเดียวกันคนที่เย็บก็มีรายได้ จากการขายหน้ากากและเงินจากการบริจาคที่ตั้งเป็นกองทุนและนำมาจ่ายเป็นค่าแรง
“ในตอนนี้ที่จะเน้น คือเราจะหันมาพึ่งตัวเอง เพราะเรารู้ดีกว่าจะรอรับบริจาค หรือรอความอนุเคราะห์ตลอดไปไม่ได้ โดยศูนย์ได้งบประมาณสนับสนุนจาก พอช เพื่อสนับสนุนคนจนที่ต้องการพึ่งตนเอง รวมถึง สสส. ที่สนับสนุนกระบวนการ การทำตลาด สร้างอาชีพ”
ปัจจุบันในศูนย์เปลี่ยนจากครัวกลางที่คอยทำอาหารเพื่อแจกอย่างเดียว เป็นหันมาทำอาหารจำหน่ายในราคาถูกให้กับชาวบ้านที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะทำให้คนไร้บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
โดยยังมีการขยายรูปแบบการดำเนินการนี้ไปในพื้นที่ชุมชนแออัด กลุ่มคนไร้บ้านในต่างจังหวัดด้วย โดยจะพิจารณาหาศักยภาพการสร้างรายได้ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ อย่างเช่นที่ศูนย์คนไร้บ้านจังหวัดปทุมธานี จะทำเป็นที่พักสำหรับคนที่ต้องกักตัว รองรับได้ประมาณ 20 คน หรือศูนย์คนไร้บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ เร่งทำการเกษตรบนดาดฟ้า เพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และบางชุมชนชักชวนกันทำเกษตรในชุมชนเพื่อเป็นอาหารแบบพึ่งพาตัวเอง เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือด้วยการบริจาคหรือให้โอกาสการทำงานกับคนกลุ่มนี้สามารถประสานได้ที่มูลนิธิฯ
นพพรรณเล่าว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์พยายามสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านอยู่แล้ว เพราะต้องการให้คนไร้บ้านมีความเข้มแข็งยืนได้ด้วยตัวเอง จึงอยากมีพื้นที่ให้คนไร้บ้านเข้ามาสู่ระบบการพัฒนาศักยภาพ
“แต่เขาชอบอยู่ที่สาธารณะมากกว่า มันต้องค่อยๆ ขยับ เพราะคนไร้บ้านเราไม่สามารถเร่งรัดได้ เขาไม่ใช่คนที่จะทำอะไรได้ง่ายๆ ต้องช้าๆ แต่พอวิกฤตหนัก ก็เป็นผลดีอย่าง เพราะเราพูดชักชวนนี่ง่ายขึ้นเลย ทั้งมีสมัครใจเข้ามามากขึ้น”
นพพรรณเอ่ยว่า ขณะนี้บางส่วนคนไร้บ้านที่เข้ามาอยู่ในศูนย์ บางส่วนมาจากบ้านเช่าซึ่งทางศูนย์ยังกำลังประสานกับกรมแรงงาน เพื่อเข้ามาดูว่าจะสามารถสนับสนุนเรื่องการสร้างอาชีพได้อย่างไรบ้าง
“เราเชื่อว่าคนที่เคยทำงานเขาจะฟื้นเรื่องอาชีพได้เร็ว”
แม้ไม่สามารถรู้ได้ว่าสถานการณ์โรคโควิด-19จะยืดยาวไปนานแค่ไหน แต่การช่วยเหลือคนไร้บ้านเหล่านี้ อย่างน้อยก็ช่วยเยียวยาความเดือดร้อนบรรเทาลงได้บ้าง ที่สำคัญเป็นการสร้างกำลังใจ ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งหลักเพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาตัวเอง และหนุนคนไร้บ้านให้ลุกขึ้นมาตั้งหลักชีวิตใหม่ในระยะยาวไปด้วยกัน