“ซัมมิท” ผนึกพันธมิตร รุกธุรกิจยานยนต์สมัยใหม่
ซัมมิท โอโต บอดี้ ยักษ์ใหญ่ตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย เร่งปรับตัวรับเทรนด์อุตสาหกรรมโลก เล็งแตกไลน์การผลิตและวิจัยวัสดุใหม่ไร้น้ำหนักต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ รับประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
กลุ่มบริษัทซัมมิทเริ่มต้นกิจการจากการประกอบธุรกิจซ่อมเบาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จากนั้นต่อยอดกิจการบริการสู่การเป็นผู้ผลิตเบาะและชิ้นส่วนภายในรถยนต์ และก่อตั้งกลุ่มบริษัทซัมมิท ภายใต้ชื่อ ซัมมิท โอโตซีท อินดัสตรี ขึ้นในปี 2515 โดยมีหุ้นส่วนเป็นคนไทยทั้งหมดโดยในปี 2529 เริ่มขยายกิจการสู่การผลิตชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ ภายใต้ชื่อ บริษัท ซัมมิท โอโตบอดี้ อินดัสตรี
นอกจากนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปี 2537 จึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท ซัมมิท แหลมฉบัง โอโต บอดี้ เวิร์ค จำกัด ภายใน นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในพื้นที่
โดยหลังจากนั้น กลุ่มบริษัทซัมมิทได้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมอีก 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ซัมมิทแหลมฉบัง โอโต บอดี้ เวิร์ค จำกัด (สาขาระยอง) ภายในนิคมอุสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดจ.ระยอง และบริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด (อยุธยา) ภายในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา
เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้าในฐานะผูผลิต OEM และรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ จนกลายเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ปั้มขึ้นรูปโลหะส่งมอบให้กับผู้ประกอบรถยนต์ทุกยี่ห้อที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย
กรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ในอดีตและส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งในฐานะบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาความสามารถทางวิศวกรรมที่ใช้ในการออกแบบยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านวัสดุศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีการผลิตและการทดสอบ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยมีความร่วมมือด้านงานวิจัยหลายโครงการ โดยหนึ่งในนั้นคือการโครงการพัฒนาชิ้นงานกลุ่มมีน้ำหนักเบา (light weight) อาทิ คาร์บอนไฟเยอร์ ซึ่งบริษัทมองว่าจะเป็นวัสดุที่เป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทจะใช้เหล็กเป็นวัสดุหลัก
นอกจากนี้ ปัจจุบันการศึกษาและลงทุนในเทคโนโลยีวัสดุน้ำหนักเบายังมีต้นทุนสูงและคาดว่าต้องใช้ระยะเวลานาน ซัมมิทจึงได้หารือร่วมกับ บริษัท นิช ไซคลิ่ง จำกัด ผู้ผลิตล้อ เฟรมคาร์บอน และชิ้นส่วนจักรยานเกรดแข่งขัน ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในชื่อ บริษัท ซัมมิทนิช จำกัด หรือ “SUMMIT NICH” ด้วยทุนจดทะเบียน 16 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการลงทุนของซัมมิท โอโต บอดี้ ที่ 75% นิช ไซคลิ่ง 25% โดยมีแผนเพิ่มยอดการส่งออกจักรยานผลิตตามสั่ง (custom made) ประเภท performance road bike รวมถึงเพิ่มช่องทางการขายในรูปแบบออนไลน์ เบื้องต้นประเมินกำลังการผลิตต่อเดือนที่ 100 คัน โดยตั้งเป้าหมายรายได้ 20 ล้านบาทต่อปี
“การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากผลิตภัณฑ์เดิมของซัมมิท โดยซัมมิทรับหน้าที่ส่วนการวิจัยและพัฒนา และเป็นฐานการผลิต ซึ่งบริษัทมีความพร้อมด้านซอฟต์แวร์การออกแบบ รวมถึงการทดสอบที่ครบวงจร ทำให้สามารถคัดเลือกวัสดุที่เหมาะสมดีไซน์แปลกใหม่และทนทาน”
รวมทั้งซัมมิทยังได้ต่อยอดธุรกิจใหม่เพื่อเตรียมพร้อมในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยการเป็นผู้รับประกอบรถอีวีในประเทศ (sub-assembly) ของค่ายรถแบรนด์เอ็มจี สัญชาติจีน ที่เข้ามาบุกเบิกตลาดเมืองไทย โดยการจ้างซัมมิทซึ่งมีความพร้อมด้านพื้นที่และแรงงานในประเทศเป็นผู้ประกอบรถอีวี เบื้องต้นเพื่อประหยัดต้นทุนค่าแรงในช่วงทดลองตลาด โดยหลังจากนี้ หากบริษัทต้องการสร้างฐานการผลิตในไทย จะได้มีการพูดคุยเรื่องความร่วมมือต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ จากมุมมองของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ยังไม่สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอีวีได้ โดยเงื่อนไขสำคัญสุดที่จะทำให้อีวีโตเร็ว คือ ต้นทุนของรถอีวี ขณะเดียวกันผู้ผลิตต้องการตลาดในประเทศด้วย แต่รถอีวียังมีราคาสูงจึงยังไม่ตอบโจทย์กำลังซื้อลูกค้าในไทย ดังนั้นการจะทำให้รถอีวีประสบความสำเร็จขึ้นไม่ได้ขึ้นกับเทคโนโลยีอย่างเดียวแต่ขึ้นกับต้นทุนการผลิตอีวี
อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ในการสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคในหลายด้านเกี่ยวกับอีวีอาทิ เทคโนโลยี สมรรถภาพรถ การมีศูนย์บริการที่ครอบคลุม ความเข้าใจเกี่ยวกับชิ้นส่วนประกอบ การบำรุงรักษา
นอกจากนี้ ในปี 2565 ซัมมิท ได้ร่วมกับ ฮุนได โกลวิส และอีสเทิร์น แอร์ โลจิสติกส์ จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) เพื่อยกระดับด้านโลจิสติกส์ในการข่นส่งชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร ด้วยรถบรรทุกไฟฟ้า นำไปสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน