BYD ตั้งเป้าผลิต 1.5 แสนคัน หนุนไทยฮับส่งออก EV ระดับโลก
“ดับเบิลยูเอชเอ กรุ๊ป” เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดิน 600 ไร่ จ.ระยอง แปลงใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี กับ BYD ผู้นำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจากจีน ผุดโรงงานผลิตรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้าแห่งแรกนอกจีน คาดเริ่มเดินเครื่องปี 2567 กำลังผลิต 1.5 แสนคันต่อปี หนุแผนไทยฮับผลิตรถอีวีระดับโลก
ท่ามกลางราคาน้ำมันทรงตัวในระดับที่สูงมากและยังไม่มีท่าทีว่าจะอ่อนตัวลง ทำให้ผู้บริโภคเริ่มหาทางเลือกใหม่เพื่อการเดินทางอย่างประหยัดและสอดคล้องกระแสการไม่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศโลก รถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นทางเลือกและทางรอดของผู้บริโภคในยุคนี้
นายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้อินดัสทรี จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทได้ทำการค้นหาและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จึงตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยซึ่งถือเป็นการขยายการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกนอกประเทศจีน ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งเป็นตัวเลือกที่มีความเหมาะสมที่สุด ด้วยปัจจัยหลายประการ ประกอบไปด้วยทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของบริษัท ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค ที่มีระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิล์ดคลาสระบบการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง การขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นโยบายสนับสนุนการผลิตอีวีในประเทศของภาครัฐ รวมถึงทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เข้มแข็งในประเทศ
สำหรับการลงทุนในระยะแรก บีวายดี ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่า 17,891 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าจำนวน 150,000 คันต่อปีเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนและยุโรป
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในปี 2573 ไทยจะสามารถผลิตรถอีวีได้มากกว่าเป้าหมายนโยบาย 30@30 โดยจะมีสัดส่วนการผลิตเป็น 50% ของยอดผลิตรถยนต์ทั้งหมด ในขณะที่ปี 2579 อีโคซิสเต็มและสถานีอัดประจุไฟฟ้าของไทยจะสามารถรองรับการใช้รถอีวีได้ 1.2 ล้านคัน อีกทั้งเชื่อว่าไทยจะสามารถเป็นฮับของการผลิตรถอีวีในระดับโลกได้อีกด้วย
แผนผลิตเน้นตลาดในประเทศ
“เราหวังว่าจะมีความสัมพันธ์ระยะยาวอันดีร่วมกับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ต่อไปในอนาคต โดยบริษัทจะให้ความสำคัญที่ตลาดรถยนต์ประเภทแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศไทยก่อนพร้อมกับศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการลงทุนอื่นๆ อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด”
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป กล่าวว่า การลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าภาคภูมิใจและเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ซึ่งเป็นการซื้อขายที่ดินกับ บีวายดี ที่ถือเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีของดับบลิวเอชเอ
รวมทั้งยังเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทยที่ได้ต้อนรับบริษัท บีวายดี ผู้นำตลาดรถอีวีของโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตนอกประเทศจีนแห่งแรกในไทย
“นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เป็นนิคมฯ เปิดใหม่ โดยมีพื้นที่เฟสแรก 1,281 ไร่ที่บริษัทเร่งเตรียมการตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากคาดการณ์ว่าดีมานต์ของนักลงทุนจะทะลักเข้ามาในปีนี้ รวมถึงปี 2566 ประเมินว่าจะมีการลงทุนเข้ามามากกว่าเดิม ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เริ่มเห็นการภาพการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป โดยจะเห็นการขยายการลงทุนของสหรัฐยุโรป และญี่ปุ่นมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยภาพรวมการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปโภคบริโภค (Consumer Product) และอิเล็กทรอนิกส์ระดับไฮเอนด์”
เตรียมเพิ่มที่ดินรับอุตฯเป้าหมาย
ทั้งนี้ ภายในนิคมฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการดึงดูดการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve Industry) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ด้วยระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์มสมาร์ทไมโครกริดสำหรับจ่ายไฟฟ้าพลังงานทดแทน และทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ในโครงการอีอีซี นอกจากนี้ยังมีความพร้อมในการขยายพื้นที่เฟส 2 อีก 500 ไร่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และสิทธิประโยชน์การลงทุนจากบีโอไอ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2-3 ปีนี้ และพร้อมรองรับการลงทุนคลัสเตอร์การผลิตอีวีที่จะตามเข้ามาอีกมาก
“การซื้อขายที่ดินในครั้งนี้ ยังเป็นการตอกย้ำจุดแข็งของประเทศไทย ที่มีศักยภาพดึงดูดนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ๆ ทั้งจากบริษัทผู้ผลิตอีวีท็อป 5 ของประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการก้าวสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำนวัตกรรมของประเทศไทย”
นางสาวจรีพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในมุมของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม มองเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนที่ให้ความสนใจประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีความแข็งแกร่งของซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยานยนต์เนื่องจากไทยเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลกหลายบริษัท
ปัจจุบัน บีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการจาก 17 บริษัท คิดเป็นยอดกำลังการผลิตรถไฟฟ้า 830,000 คัน และคาดการณ์ว่าภายในต้นปี 2566 ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งล้านคัน และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 700,000 คันต่อปี