"เบลด แบตเตอรี" หัวใจหลัก "BYD" รับการเปิดตัว "อีวี" รุ่นแรกในไทย
บีวายดี (BYD) มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ทั้งด้านการลงทุน การร่วมมาตรการภาครัฐ การแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายในไทย และเตรียมตัวที่จะเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รุ่นแรกในไทย คือ Atto3
การเข้ามาของ บีวายดี (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) จากจีน สร้างความคึกคักให้กับตลาดอย่างมาก จากการที่เป็นผู้ผลิตรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนอันดับ 1 ของโลก
โดยช่วงครึ่งปีแรก 2565 ยอดขาย EV+PHEV บีวายดี มียอด 640,748 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 15.4% ตามมาด้วย เทสล่า 564,873 คัน ส่วนแบ่งตลาด 13.6% เอสเอไอซี (เอสเอไอซี-จีเอ็ม-วู่หลิง) 358,040 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8.6% โฟล์คสวาเก้น กรุ๊ป 331,743 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8% และจีลี่-วอลโว่ 231,232 คัน ส่วนแบ่งตลาด 5.6%
ความตื่นเต้นอีกสิ่งหนึ่งคือ ไทย เป็นประเทศแรกที่บีวายดี ใช้เป็นฐานการผลิต EV นอกประเทศจีน และม่ีแผนส่งออกไปทำตลาดอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป โดยล่าสุดได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดิน 600 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมระยอง 36 กับดับเบิลยูเอชเอ (WHA) ซึ่งถือว่าเป็นการขายที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี
โดยบีวายดี ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ มูลค่า 17,891 ล้านบาท
ซึ่งการเข้ามาของ บีวายดี และอีกหลายๆ ค่ายที่จะตามมาในอนาคต ทำให้ผู้บริหารบีวายดี ประเมินว่า อีวี ไทย จะเติบโตเร็วกว่าที่คิด เช่น การตั้งเป้าหมายของรัฐบาบไทย 30@30 หรือ การผลิต อีวีให้ได้ 30% ภายในปี 2030 นั้น บีวายดีเชื่อว่าจะตัวเลขจะขยับขึ้นไปที่ 50%
และก่อนหน้านั้นบีวายดีก็มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องด้วยการแต่งตั้งตัวแทนทำตลาดในไทย คือ “เรเว่ ออโตโมทีฟ” และเร็วๆ นี้เตรียมแถลงข่าวความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งรวมถึงตัวแทนจำหน่าย หรือ ดีลเลอร์ อีกด้วย
และแน่นอนสิ่งที่ลูกค้ารอคอยก็คือ ด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งบีวายดี ยืนยันว่า พร้อมจะเปิดตัว Atto3 รถ B-SUV เป็นรุ่นแรกในไทย ปีนี้ แต่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าเป็นรุ่นไหน ใน 2 รุ่นย่อยที่มีอยู่ในตลาดโลกเวลานี้
ทั้ง 2 รุ่นมีพื้นฐานเหมือนกัน ทั้งขนาดตัวถัง สมรรถนะของมอเตอร์ไฟฟ้า จะแตกต่างกันคือ ความจุ แบตเตอรี 2 ขนาด 49.9 kWh และ 60.5 kWh ขนาดการรับพลังงานไฟฟ้าในการชาร์จแบบเร็ว
กับระยะทางการใช้งาน ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง 345 กม. และ 420 กม.
และเกี่ยวกับแบตเตอรี ถือเป็นอีกจุดขายสำคัญ และทำให้บีวายดีเนื้อหอม หลายบริษัทอยากได้แบตเตอรีไปใช้
เพราะเป็นรายเดียวที่มีแบตเตอรี ที่เกรียว่า “เบลด แบตเตอรี” (Blade Battery) ที่มีความโดดเด่นหลักคือ สามารถบรรจุเซลล์แบตเตอรีได้มากกว่าปกติ 50% ทำให้ใช้งานได้ไกลขึ้น และใช้เวลาชาร์จน้อยลง
บีวายดี ระบุว่า การพัฒนาเบลด แบตเตอรี เป็นความตั้งใจแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัย เนื่องจากแบตเตอรีทั่วๆ ไป มีปัญหาสำคัญ คือ การควบคุมความร้อน
และการเพิ่มความปลอดภัยอีกอย่าง คือ หากเกิดอุบัติเหตุ เบลด แบตเตอรี จะไม่สร้างความเสียหายเพิ่มเติม โดยบีวายดีได้ทดสอบ ด้วยการการเจาะด้วยตะปูจนทะลุ พบว่าไม่มีควัน หรือเปลวไฟเกิดขึ้นแต่อย่างใด ขณะที่อุณหภูมิพื้นผิวอยู่ท่ี่ 30-60 องศาเซลเซียส ขณะที่แบตเตอรีลิเธียมที่ทดสอบด้วยเงื่อนไขแบบเดียวกัน มีควันเกิดขึ้น ตามด้วยเปลวไฟร้อนแรง และมีอุณหภูมิที่พื้นผิวสูงถึง 500 องศาเซลเซียส
และในการทดสอบเมื่อหลายปีก่อน บีวายดี มีลูกเล่นเพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ ด้วยการตอกไข่ไว้บนแบตเตอรีด้วย ซึ่งแน่นอนไข่บน เบลดแบตเตอรี ยังเป็นไข่ดิบ แต่บนแบตเตอรีอื่นที่ทำมาทดสอบ ไม่รู้ว่ามันเป็นไข่อะไร เพราะกระเด็นหายไปเป็นส่วนใหญ่จากแรงปะทุของเปลวเพลิง
บีวายดีระบุก่อนหน้านี้ว่าจริงๆ แล้วยังมีการทดสอบอีกหลายอย่าง ล้วนแต่เป็นการทดสอบโหดๆ เช่น การกระแทกให้บิดงอ หรือการเพิ่มอุณหภูมิให้ถึง 300 องศาเซลเซียส เพื่อดูว่าจะเสียหายหรือไม่ และการชาร์จเกิน (overcharge) 260% แต่ทั้งหมดก็ไม่ทำให้เกิดการลุกไหม้ หรือเกิดการระเบิดแต่อย่างใด
ซึ่งนั่นเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้บีวายดี โดดเด่นในเวทีของ อีวี โลกในวันนี้