Maserati ‘MC20’ ลุยเซปัง เซอร์กิต ดุดัน ไม่ดื้อ การพัฒนาเครื่องยนต์รอบ 20 ปี
มาเซราติ ออกมาจัดกิจกรรม Master Maserati Event 2022 นอกยุโรปเป็นครั้งแรกที่ มาเลเซีย เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสกับรถในรูปแบบการขับแบบเรซซิ่ง ไลน์ ในสนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลก เพื่อเรียนรู้การใช้งานที่ถูกต้อง การควบคุมรถที่ถูกต้อง และแน่นอน สมรรถนะของรถ
กิจกรรม Master Maserati Event 2022 มีรถมาร่วมงานหลายรุ่น และตัวเด่นคงหนีไม่พ้น "MC20" รถซูเปอร์คาร์ ที่ใเมืองไทยวางจำหน่ายด้วยค่าตัว 23.5 ล้านบาท
MC20 เรียกได้ว่าเป็นการสื่อถึงยุคใหม่ของมาเซราติอย่างชัดเจน และเป็นการบ่งบอกถึงพัฒนาการของผู้ผลิตจากตาลีค่ายนี้ ที่พร้อมจะฟาดฟันกับ ซูเปอร์คาร์ ระดับโลกอื่นๆ ในทุกเวที
MC20 ใช้เครื่องยนต์เบนซิน วี 6 ขนาด 3,000 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 630 แรงม้า ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 730 นิวตัน-เมตร ที่ 3,000-5,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหล้ง อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 2.9 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ 325 กม./ชม.
สำหรับ “MC20” เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 โดยชื่อ MC ย่อจาก "Maserati Corse" ส่วนตัวเลข "20" มาจากปีที่เปิดตัว (2020) เป็นการสื่อสารว่าเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของแบรนด์
และเป็นครั้งแรกที่มาเซราติ ใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตเองอีกครั้ง หลังจากหยุดไป 20 ปี ซึ่งเครื่องยนต์ตัวนี้เป็นเครื่องยนต์ Nettuno เบนซิน
MC20 ออกแบบที่เมืองโมเดนา และผลิตที่โรงงาน Viale Ciro Menotti ซึ่งเป็นโรงงานที่รองรับการผลิตรถยนต์ มาเซราติ มามากกว่า 80 ปี เป็นการผลิตแทนที่ กรันทูริสโม (GranTurismo) และ กรัน คาบริโอ (GranCabrio) ที่เลิกผลิตช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562
มาเซราติบอกว่าการดีไซน์รถรรุ่นนี้ ใช้เวลามากกว่า 2 ปี และยังใช้ระบบ Virtual Vehicle Dynamics Development ในกระบวนการพัฒนาด้วย โดยระบบนี้เป็นการทดสอบซิมูเลเตอร์ที่ทันสมัย และเป็นะระบบที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนากว่า 97% ก่อนจะนำรถต้นแบบไปปรับแต่งในรายละเอียดต่างๆ ด้วยการขับทดสอบทั้งบนถนนและในแทรค โดยมีสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำที่สุด
ส่วนแนวทางของรูปลักษณ์ ทีมออกแบบต้องการให้สะท้อนถึงตัวตนและประวัติศาสตร์ของแบรนด์ แต่แน่นอนต้องเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต รวมถึงความสะดวกสบายที่มากกว่า ไม่วาจะเป็นประตูเปิดขึ้นแบบปีกผีเสื้อ ช่วยให้เข้า-ออกห้องโดยสารได้อย่างสะดวก
ทั้งนี้การพัฒนา MC20 ออกแบบให้รองรับทั้งรูปทรง คูเป้ และเปิดประทุน รวมไปถึงเตรียมพร้อมสำหรับพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ด้วย
ขณะที่ภายในห้องโดยสาร เน้นการออกแบบให้เรียบง่าย อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงชิ้นส่วนประ ไร้สันคม ติดตั้งวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์เพื่อเติมอารมณ์สปอร์ต ติดตั้งจอแสดงข้อมูลขนาด 10 นิ้ว และจอมอนิเตอร์ตรงกลางคอนโซลหน้าพร้อมระบบ Maserati Touch Control Plus (MTC Plus MIA)
โหมดการขับขี่มี 5 โหมด ให้เลือก คือ GT, Wet, Sport, Corsa และ ESC Off ที่ตัดการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพ เพื่อเอาใจสายสปอร์ตแบบสุดๆ
สำหรับกิจกรรม Master Maserati Event 2022 ครั้งนี้ ที่มีรถแรงๆ อย่าง MC20 กับแทรคที่ท้าทายเช่นนี้ ทีมงานของมาเซราติต้องซีเรียสเล็กน้อยในการให้ข้อมูลต่างๆ กับผู้ร่วมงาน ซึ่งก็มีทั้งลูกค้าและสื่อมวลชนจากหลายชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะแม้ทุกคนจะขับรถเป็น หรือเคยขับในแทรคมาบ้าง หรือบางเรื่องเป็นเรื่องพื้นฐานที่รู้กันแล้ว เช่นท่านั่ง แต่หากแม่นในทฤษฎีจะช่วยให้ขับขี่ได้สนุก และปลอดภัยทั้งรถทั้งคน
หัวหน้าผู้ฝึกสอนจากอิตาลีที่พ่วงดีกรีนักแข่งรถ ถ่ายทอดแนวทางได้ดี ชัดเจน ไล่ตั้งแต่ท่านั่ง ตำแหน่งนั่ง พร้อมเหตุผลในการนั่ง การใช้เท้า ใช้มือในรูปแบบต่างๆ อธิบายถึงการใช้คันเร่ง การเบรก ที่มีผลต่อการถ่ายเทน้ำหนัก และแน่นอนมีผลต่อการทรงตัวของรถ การควบคุมรถ โดยเฉพาะในทางโค้ง
ซึ่งหากเป็นการขับขี่ทั่วไป อาจจะเห็นผลไม่มากนัก แต่หากเป็นรถสมรรถนะสูงที่พุ่งมาด้วยความเร็วเกิน 200 กม./ชม.ไปพอควร และมีโค้งลึกๆ รออยู่ด้านหน้า การเบรกในตำแหน่งที่ผิด การถ่ายเทน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม การปล่อยเบรกที่ไม่ถูกต้อง หรือ เติมคันเร่งไม่ถูกเวลา ใช้พวงมาลัยผิดวิธี มีโอกาสที่จะทำให้รถเสียหลักได้ แม้จะเป็นรถที่มีช่วงล่าง หรือ ระบบบช่วยเหลือดีแค่ไหนก็ตาม
แต่ถ้าผิดพลาดไม่มากนักตัวรถหรือระบบต่างๆ ก็พอจะให้อภัย ในการร่วมมือกับผู้ขับเพื่อแก้อาการของรถได้
และรูปแบบการขับทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้ในแทรคเท่านั้น แต่ใช้งานได้บนท้องถนนจริง เพียงแต่ต้องปรับรายละเอียดปลีกย่อยให้เหมาะสม สิ่งแรกคือ ความเร็วที่ต้องลดลง
MC20 เป็นรถที่ออกแบบให้มีน้ำหนักเบาไม่ถึง 1,500 กก. กับตัวรถที่ไม่เล็กนะครับ มีความยาว 4,669 มม. กว้าง 1,965 มม. สูง 1,224 มม. และระยะฐานล้อ 2,700 มม. โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการนำคาร์บอนไฟเบอร์เข้ามาใช้ในหลายส่วน
ติดตั้งยางหน้าขนาด 245/35 ZR 20 ด้านหลัง 305/30 ZR 20 ช่วงล่างปีกนกสองชั้น
รถมีโครงสร้างเตี้ย แต่เพิ่มความสะดวกด้วยประตูแบบยกขึ้น ช่วยให้ง่ายต่อการหย่อนก้นลงไปนั่งในแบาะก่อน แล้วค่อยยกเท้าตามเข้าไป เวลาจะออกก็ทำย้อนทางมา ทำให้เข้า-ออก ไม่ยาก
และเมื่อเข้าไปนั่งในรถ ไม่รู้สึกอึดอัดอะไร เบาะนั่งกว้างขวาง ผิวสัมผัสแข็งๆ เล็กน้อย ให้ความรู้สึกสปอร์ต บวกกับความกระชับ และตำแหน่งที่กดลงต่ำ ช่วยเพิ่มความรู้สึกสปอร์ตเข้าไปอีก และแน่นอนมีผลต่อจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลงทำให้การทรงตัวดีขึ้น แต่ไม่มีปัญหาในด้านทัศนวิสัย แม้จะมีขนาดตัวกะทัดรัดแบบชายไทย ก็ยังมองเห็นทิศทางด้านหน้าได้ชัดเจน ถือว่าออกแบบมาได้ดี ไม่รู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกแตกต่างจากรถทั่วไปมากนัก
มุมมองด้านหลังแม้จะแคบๆ แต่ก็ยังสามารถมองเห็นความเป็นไปด้านหลังได้ดี กระจกมองข้างที่ก้านมีความยาวก็ช่วยให้ลดจุดบอดที่ซุ้มล้อหลังซึ่งถูกถ่างออกมาเป็นพิเศษ ช่วยให้มีมุมมองที่กว้างหากต้องนำไปขับบนท้องถนนทั่วไปร่วมกับรถคันอื่นๆ
ตัวถังเตี้ยๆ บวกกับการออกแบบชิ้นส่วนต่างๆ ที่ลู่ลม ช่วยให้รถมีหลักอากาศพลศาสตร์ที่ดี อย่างน้อยการรับรู้โดยประสาทสัมผัสเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วสูงๆ คือ แรงต้านอากาศมีน้อย เสียงลมในมุมต่างๆ น้อยมาก มีแต่เสียงที่เร้าใจของเครื่องยนต์ วี6 เป็นหลัก ขณะที่ข้อมูลจากโรงงานระบุค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอยู่ที่ 0.38
สำหรับสนามเซปังฯ ระยะทางต่อรอบ 5.543 กม. ผ่าน 15 โค้ง และ 2 ช่วงทางตรงยาวๆ ไม่ง่ายสำหรับรถทุกคัน เพราะมีทางโค้งแคบๆ หลายจุด และบางโค้งไต่ขึ้นเนิน บางโค้งลงเนิน และโค้ง 15 โค้งสุดท้ายของสนาม แม้จะเป็นโค้งยูเทิร์นกว้างๆ แต่ก็เป็นโค้งแบบเทออก ไม่ใช่โค้งรับ
แต่ถ้าได้รถดีๆ เซปังฯ จะขับได้สนุกมาก แต่หมายถึงต้องดีทั้งหมด ทั้งช่วงล่าง การควบคุมรถ และกำลังเครื่องยนต์ เพราะถ้าดีแค่ช่วงล่าง การควบคุมรถ แม้จะผ่านโค้งต่างๆ ได้สบาย แต่จะขัดอกขัดใจ เมื่อจะออกจากโค้งที่ไม่ทันใจ
และสำหรับ MC20 เหมาะมากกับสนามแบบนี้ครับ การเข้าออกโค้ง การทรงตัวทำได้ดี ที่ผมชอบ คือ โค้ง 1 ต่อเนื่องไปโค้ง 2 และ 3 เพราะแรงบิดระดับ 730 นิวตันเมตร ส่งให้รถพุ่งผ่านทางตรงหน้ากริดสตาร์ท ทะลุ 200 กม./ชม. ก่อนจะเจอโค้งลึกๆ อย่างโค้ง 1 ดังนั้นปลายทางตรงต้องกดเบรกหนักๆ แบบที่เรียกกว่าหนักจริงๆ ทำให้รู้อารมณ์ของรถว่านิ่งมาก แม้จะเบรกหนักก็ตาม
ก่อนจะค่อยๆ ผ่อนแรงกดส่งรถตัดโค้ง เมื่อเริ่มตั้งลำได้ ก็ปล่อยเบรกให้หมดแล้วย้ายมากดคันเร่งแทน แบบค่อยๆ เพิ่มน้ำหนัก เพื่อให้รถยังมีการทรงตัวที่ดี และเลี้ยงคันเร่งไว้อย่างนั้น เพราะโค้ง 2 ที่ต่อเนื่องก็เป็นโค้งลึกเช่นกัน แต่เมื่อพ้นโค้ง 2 ไปได้ ก็เพิ่มน้ำหนักพารถพุ่งไปหาโค้ง 3 ได้อย่างสนุก
อีกโค้งที่ท้าทายคือ โค้ง 9 ที่เป็นโค้งมุมแหลม ต้องใช้การเบรกลึก เบรกหนักเช่นกัน รวมถึงโค้ง 14 ที่หากมาถูกไลน์แล้วสามารถเติมความเร็วก่อนออกจากโค้ง ต่อเนื่องเข้าช่วงทางตรงที่ 2 ทำให้ทำความเร็วได้สูงไปถึงระดับประมาณ 230 กม./ชม.
ตัวอย่างโค้งต่างๆ ที่ยกมาก็เพียงพอที่จะบ่งบอกอารมณ์ของรถที่สปอร์ตชัดเจน การควบคุมรถทำได้ไม่ยาก แม้บางโค้งเหมือนจะเกินสปีด ลิมิต ไปบ้าง ทำให้ท้ายรถกวาดออก แต่ไม่ต้องแก้มากมายอะไร แค่ขยับพวงมาลัยเล็กน้อยเท่านั้นทุกอย่างก็กลับเข้าที่เข้าทางเหมือนเดิม
พวงมาลัยก็แม่นยำ และมีน้ำหนักที่ดี เหมาะกับการขับขี่ในรูปแบบสปอร์ตมากครับ
ถือเป็นอีกรุ่นที่ขับได้สนุกในแทรคระดับโลก แต่เสียอย่างเดียวที่ว่ามีเวลาน้อยไปนิด กับการขับแค่ 2 รอบสนาม
แม้จะเพียงพอที่จะรับรู้อารมณ์ของรถ แต่ไม่เพียงพอกับอารมณ์ที่ติดลมของผู้ขับครับ