ลุ้น "บอร์ด EV" เคาะมาตรการ หนุนราคาแบตเตอรี่รถไฟฟ้าถูกลง

ลุ้น "บอร์ด EV" เคาะมาตรการ หนุนราคาแบตเตอรี่รถไฟฟ้าถูกลง

“บอร์ดอีวี” เร่งดันมาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่ ม.ค.66 หวังราคาใกล้เคียงนำเข้า ผู้ร่วมมาตรการต้องมีแผนรีไซเคิลแบตด้วย ประเมินยอดรถอีวีพุ่ง 7.5 หมื่นคันในปี 66-67 “บีโอไอ” ชี้ต่างชาติแห่ถามเงื่อนไขลงทุน มั่นใจเกิดโรงงานใหญ่ในไทยเพิ่ม “เอกชน”เร่งรัฐคลอดมาตรการแบต

ประเทศไทยได้ผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เต็มที่ โดยหลังจากรัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนตลาดอีวีด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนผู้ซื้อผ่านค่ายรถสูงสุดคันละ 150,000 บาท เพื่อให้ราคาอีวีลดลงแล้ว ขณะนี้คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการอุดหนุนแบตเตอรี โดยการอุดหนุนราคาแบตเตอรี่จะคล้ายการอุดหนุนให้ผู้ซื้ออีวี

มาตรการดังกล่าวถูกนำเสนอต่อบอร์ดอีวีมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565 แต่บอร์ดอีวีให้มีการปรับปรุงข้อเสนอในรายละเอียดที่ครอบคลุมมาตรการภาษี เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ รวมทั้งมีมาตรการเงินอุดหนุนในลักษณะเดียวกับการอุดหนุนเงินให้ผู้ซื้ออีวี โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทที่เข้าร่วมมาตรการต้องลงทุนผลิตแบตเตอรี่

สำหรับมาตรการที่มีการเสนอประกอบด้วย 1.การอุดหนุนในระดับเซลล์ หรือการอุดหนุนตั้งแต่กระบวนการผลิตโดยเริ่มจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจนถึงการผลิตสำเร็จ 2.การอุดหนุนในระดับ Module ซึ่งแบตเตอรี่รถยนต์จะมีหลาย Module สามารถเปลี่ยนเฉพาะ Module ที่เสื่อมสภาพได้ และ 3.การอุดหนุนราคาในระดับ Pack หรือแบตเตอรี่ทั้งลูกที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้า

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า บอร์ดอีวีอยู่ระหว่างกำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณามาตรการสนับสนุนแบตเตอรี โดยคาดว่าจะประชุมได้ในเดือน ม.ค. 2566

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลโดยกรมสรรพสามิตออกมาตรการสนับสนุนการใช้อีวี ขณะนี้กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ในไทยด้วย

ทั้งนี้ มาตรการที่สนับสนุนการลงทุนผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ในประเทศนั้น จะครอบคลุมถึงแบตเตอรี่ประเภทอื่นด้วยที่เป็นลักษณะ Energy Storage และจะผูกกับมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่บริษัทผู้ผลิตต้องมีมาตรการในการรีไซเคิลแบตเตอรี่เก่าด้วย

นายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่อยู่ที่ 8% ซึ่งกำลังพิจารณาอัตราให้อยู่ในลักษณะส่งเสริมให้เกิดการลงทุน มีเป้าหมายให้ราคาแบตเตอรี่ที่ผลิตในไทยใกล้เคียงกับราคาแบตเตอรี่นำเข้า

บีโอไอมั่นใจเกิดโรงงานใหญ่

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในไทย เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตแบตเตอรี่สำหรับอีวีในไทย ซึ่งจะเริ่มเห็นการลงทุนชัดเจนขึ้นตามดีมานต์รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และทำให้หลายบริษัทเห็นโอกาสเข้ามาลงทุนในไทยทั้งการผลิตอีวีและการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในไทยไทยมีสูง 

สำหรับผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยปัจจุบัน แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 

1.บริษัทรถยนต์ผลิตแบตเตอรี่เอง โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์หลายรายที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นการผลิตในระดับ Module และ Pack สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งที่เป็น HEV, PHEV และ BEV เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, เอสเอไอซี (MG), ไมน์ โมบิลิตี้

2.บริษัทในเครือ หรือ Supplier หลักของบริษัทรถยนต์ เช่น ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ (สำหรับ Benz) แดร็คเซิลไมเออร์ (สำหรับ BMW) และ SVolt (สำหรับ Great Wall Motor) เป็นต้น

3.บริษัทผลิตแบตเตอรี่โดยตรง ซึ่งบางส่วนใช้ในรถยนต์ และบางส่วนใช้เป็น Energy storage สำหรับการกักเก็บพลังงานทั่วไปด้วย เช่น นูออไว พลัส, อมิตา เทคโนโลยี เป็นต้น

ต่างชาติแห่ถามเงื่อนไขลงทุนแบต

นอกจากนี้ การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับอีวีจะเห็นการร่วมลงทุน เช่น การร่วมลงทุนของ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด และ Contemporary Amperex Technology Co., Limited (CATL) ซึ่งร่วมกันศึกษาผลิตเทคโนโลยี Cell-To-Pack (CTP) ของ CATL ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ช่วยจัดเก็บเซลล์แบตเตอรี่ได้โดยตรง และมีการประกาศร่วมลงทุนในช่วงกลางปี แต่โครงการยังไม่มาถึงขั้นตอนการขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

ส่วนรายอื่นที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศหลายรายที่เข้ามาสอบถาม และแสดงความสนใจในการลงทุน โดยเมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศ 1 ราย ซึ่งเป็นซัพพายเชนของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่มาลงทุนในไทย และอยู่ระหว่างการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทย โดยในเฟสแรกจะเป็นการทำแบบการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นโมดูล และในระยะกลางจะเป็นรูปแบบเซลล์

“การลงทุนของบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่นั้นจะมีการลงทุนเป็นเฟส ๆ และเวลาลงทุนทำแบตเตอรี่รถ EV นั้นมีแบตเตอรี่หลายประเภท ตั้งแต่ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และรถ EV และมีหลายรูปแบบเช่น แพค โมดูล และเซลล์ ซึ่งเป็นค่อยๆไต่ระดับเพิ่มไป”

“เอกชน”เร่งรัฐคลอดมาตรการแบต

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี ซึ่งรอการพิจารณาอนุมัติจากบอร์ดอีวี โดยมาตรการดังกล่าวจะเป็นการวางแผนแนวทางเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาผลิตในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับเซลล์ขึ้นไป จึงมองว่าโครงร่างของการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิตที่ร่างมามีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว และที่เหลือรอการอนุมัติจากบอร์ดอีวี เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

“ร่างมาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่ยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าหากมองทิศทางการลงทุนแล้วภาครัฐอยากสนับสนุนทั้งในส่วนของการดึงดูดการลงทุนผู้ผลิตระดับเซลล์ และจะมีเงินสนับสนุนให้ตามกิโลวัตต์ที่จะผลิตออกมา”

ทั้งนี้ จากมาตรการของภาครัฐ ถือเป็นการวางแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีความชัดเจนจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น เพราะผู้ซื้อรถอีวีขณะนี้ การใช้งานรวมถึงการชาร์จไฟฟ้า โดยหลักจะชาร์จไฟที่บ้าน แต่สิ่งที่ผู้ใช้รถอีวีอยากได้ความมั่นใจคือการเดินทางไปต่างจังหวัดว่าจะมีสถานีชาร์จไฟฟ้าเพียงพอหรือไม่

รัฐตั้งงบอุดหนุน“อีวี”หมื่นล้าน

โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ นอกเหนือจากการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ และการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์แล้ว รัฐบาลได้ให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ในวงเงินตั้งแต่คันละ 70,000-150,000 บาท โดยขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ และค่ายรถยนต์ที่ใช้สิทธิเงินชดเชยดังกล่าวจะต้องผลิตรถอีวีภายในประเทศชดเชยในอัตรา 1 ต่อ 1 ภายในปี 2567

สำหรับเงินอุดหนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณก้อนแรกเพื่อสนับสนุนในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายเงินอุดหนุนให้รถยนต์ไฟฟ้าได้ 20,000 คัน และคาดว่าในระยะต่อไปหรือช่วงปี 2566-2567 จะต้องของบอุดหนุนอีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีก 75,000 คัน โดยรถยนต์ 10,000 คัน จะใช้งบประมาณอุดหนุน 1,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรมฯ ประเมินว่าแนวโน้มประชาชนจะร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้อีวีมีมากขึ้น โดยปี 2566 คาดว่ามียอดจองรถยนต์อีวีไม่ต่ำกว่า 30,000 คันจากปีนี้ที่คาดว่ามียอดจองเข้าร่วม 25,000 คัน ส่วนปี 2566-2567 จะมีรถยนต์เข้าร่วมมาตรการราว 75,000 คัน

สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเงินอุดหนุนอีวีนั้น ขณะนี้กรมฯได้จ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการส่งเสริมรถอีวีประเภทรถยนต์แล้ว 1 ครั้ง รวม 540 คันคิดเป็นเงินอุดหนุนจำนวน81ล้านบาทและอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้มีสิทธิรับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้อีวีครั้งที่ 2 รวม 1,297 คันคิดเป็นเงินอุดหนุน 194.5 ล้านบาท

น้ำมันแพงหนุนใช้“อีวี”

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้ากับกรมขนส่งทางบก ณ วันที่ 30 พ.ย.2565 มีทั้งสิ้น 29,402 คัน แบ่งเป็นประเภทรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคล 12,319 คัน รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 15,387 คัน รถโดยสาร 877 คัน รถบรรทุก 93 คัน และรถประเภทอื่น ๆ เช่น รถสามล้อ รถบริการธุรกิจ 726 คัน 

ขณะที่สถานีอัดประจุไฟฟ้า ณ วันที่ 20 ก.ย.2565 มีจำนวน 869 สถานี รวม 2,572 หัวจ่าย แบ่งเป็นแบบ DC จำนวน 1,188 หัวจ่าย และ AC จำนวน 1,384 หัวจ่าย

“ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น กระแสการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาดส่งผลให้ประชาชนสนใจที่จะเปลี่ยนมาใช้รถอีวี ซึ่งวันนี้ผู้ผลิตหลายรายจากต่างประเทศมีตัวออปชั่นให้ประชาชนได้เลือก ส่งผลให้รถอีวีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งทางคณะทำงานได้เตรียมแผนงานเสนอบอร์ดอีวีไว้หลายแนวทาง รอเพียงการประชุมเพื่อเคาะแนวทางเท่านั้น” แหล่งข่าว กล่าว