“พลังงาน” จ่อเสนอ "บอร์ดอีวี" หนุนลงทุนผลิตแบตEV ในไทย
“พลังงาน” จ่อเสนอบอร์ดอีวี หนุนลงทุนผลิตแบต EV ในไทย พร้อมมาตรการติดตั้งสถานีชาร์จ-ปูทางระบบไฟชาร์จอีวีบ้านให้ง่ายขึ้น พร้อมเสนอ “กพช.” ดันแผนรองรับราคานำเข้าก๊าซ LNG พุ่งช่วงหน้าหนาว หวังลดต้นทุนดึงราคาค่าไฟไม่ให้พุ่งมากกว่าเดิม
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา New Energy หัวข้อ แผนพลังงานชาติแห่งความยั่งยืน จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางสถานการณ์พลังงานตอนนี้ได้ก้าวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยถูกควบคุมการกำหนดการปลดปล่อยคาร์บอน สู่ Net Zero ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน นานาประเทศต่างต้องควบคุมอุณหภูมิโดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศ
อย่างไรก็ตาม หลักสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำมาสู่การภาวะโลกร้อน ประเทศไทยมีการปล่อยประมาณปีละ 300 ล้านตัน โดย 64% มาจากภาคพลังงานและค่าขนส่ง ซึ่งภาคขนส่ง 28% มาจากการใช้รถสันดานที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล ส่วนภาคพลังงานโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ โดยมาจากในอ่าวต่างๆ รวมนำเข้าการนำเข้าราว 70% และ 16% มาจากถ่านหิน ส่วน 2% มาจากน้ำมันเตา ซึ่งมันดีเซลยังใช้ไม่มาก แต่กำลังจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาในช่วงที่ก๊าซธรรมชาติ LNG มีราคาแพงขนาดนี้ ส่วน 11% มาจากพลังงานหมุนเวียน ถือเป็นพลังงานสะอาด ลดภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องมีการควบคุมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น หากยังคงสัดส่วน 11% โดยไม่มีการเร่งรัดนโยบายต่าง ๆ สัดส่วน 20% จะใช้เวลาถึง 20-30 ปีข้างหน้า ดังนั้น เป้าหมายสู่ใน Net Zero ของประเทศปี 2065 ที่ได้ประกาศไว้ในเวที COP26 จะเป็นไปไม่ได้ กระทรวงพลังงานจึงต้องบูรณาการแผนพลังงาน 5 แผนรวมเป็นแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) เพื่อกำหนดทิศทางของพลังงานในอนาคต
นายกุลิศ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานดำเนินการโดยศึกษาทิศทางสถานการณ์พลังงานโลกและดูสถานการณ์พลังงานไทยมารวมกับแผนพลังงานชาติ โดยแผนที่ทางพลังงานโลก ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นฟอสซิลยังเป็นพลังงานหลักในอีก 10 ปีนี้ ซึ่งวิกฤตพลังงานต่าง ๆ ที่ออกมามาจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแพง แต่ในอีกระยะข้างหน้าต่อไปนี้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาด หรือไฮโดรเจนจะเข้ามา โดยต้นทุนเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิ Solar, ลม, Biomass หรือ ไฮโดรเจนเมื่อเทียบต้นทุนปี 2010 กับปี 2021 จะถูกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เหมือนกับโทรศัพท์มือถือ
“สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากทั่วโลก แบ่งไปตามแหล่งเชื้อเพลิงต่าง ๆ พลังงานที่เป็นพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ มีการกำหนดนโยบายเหมือนแผนพนักงานชาติเช่นกัน ทั้ง อเมริกา EU ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น ซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงไม่ได้หากไม่มีการร่วมมือกันระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องของดิจิตอล โรงไฟฟ้าต่อไปนี้จะไม่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ดิจิทัล รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากปีละ 300 ล้านตันมาเหลือ 216 ล้านตันในปี 2030”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้ร่วมมือกับต่างประเทศในการนำเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS) มาใช้ในแหล่งอาทิตย์ และแหล่งสินภูฮ่อม ที่อยู่ระหว่างทดลอง CCS ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าน้ำพอง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องเริ่มดำเนินการในเรื่องของการนำเทคโนโลยี CCS มาใช้ด้วย ถือเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการอีกทั้ง กฟผ. ยังดำเนินการในเรื่องของไฮโดรเจน กรีน ที่ศูนย์การเรียนรู้ลำตะคอง โดยใช้พลังงานลมเข้ามาใช้ร่วมด้วย
ประเทศไทยตามแผนจะต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดจากการผลิตไฟฟ้าที่ 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งกฟผ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ที่เขื่อนอุบลรัตน์ ภายหลังเปิดให้บริการแล้วที่สิรินธร และจะขยายให้ครบทุกเขื่อนของกฟผ. รวมกำลังผลิต 2,700 เมกะวัตต์ และประเทศไทยเมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพที่เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนอีกราวประมาณ 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 200 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากสปป.ลาวประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ โดยทั้งหมดในแผนแล้ว
“สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คือวิกฤตพลังงานที่มีความผันผวนเยอะมาก เมื่อกลางปีถึงตอนนี้สถานการณ์น้ำมันดีขึ้นมาหน่อยตอนนี้ราคา 91 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้วันนี้เริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ลิตรละ 2 บาท หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้จะทำให้ดีขึ้น แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือราคานำเข้า LNG ก่อนวิกฤตช่วงโควิด-19 อยู่ที่ 3-4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขึ้นมา 80 และเดือนที่แล้วอยู่ที่ 61 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และกลับมาที่ 45 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ถือว่ายังมีราคาส่งอยู่”
ทั้งนี้ หากจะผลิตไฟฟ้าให้มีค่าไฟที่กำลังพอดีต้องอยู่ที่ 25 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และหากเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรปราคาจะกระโดดขึ้นสูงอีกโดยเฉพาะช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2565 ดังนั้นกระทรวงพลังงานจะต้องเตรียมการ อาทิ ใช้น้ำมันดีเซลเข้ามาผลิต เพิ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซล ขยายระยะเวลาปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่นโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 8 และ 4 เจรจาซื้อแก๊สจากแหล่งมาเลเซียคาดว่าจะนำที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เร็ว ๆ นี้
“ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เร็ว ๆ นี้ จะจะนำเสนอในเรื่องของการผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ 40% ของรถ EV ดังนั้น จะทำอย่างไรให้มีการทำโรงงานแบตเตอรี่ส่งเสริมชิ้นส่วนในการผลิตแบตเตอรี่และในเรื่องของการทำลายให้ครบวงจรจะเป็นอีกมาตรการที่จะออกมาควบคู่กับการสนับสนุนสถานีชาร์จรถอีวี คือ คนส่วนใหญ่เกือบ 90% ต้องการที่จะชาร์จไฟบ้าน จึงต้องปรับระบบไปบ้านให้รองรับด้วย” นายกุลิศ กล่าว