อีโค ซิสเทม ดัน “อีวี” เอ็มจี ขยายน่านน้ำ รับตลาดแข่งดุ
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีปัจจัยลบที่ฉุดการเติบโต ทั้งเรื่องของสมรรถนะ ความสามารถในการใช้งาน ราคา และที่สำคัญคือความสะดวกในการใช้งาน โดยเฉพาะจุดชาร์จไฟ โดยเรื่องนี้มุมมองของ เอ็มจี เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีความน่าสนใจ
ขณะเดียวกัน การแข่งขันก็รุนแรงมากขึ้น จากการมีผู้เล่นเช้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความท้าทายของบรรดาผู้ประกอบการในการสร้างตลาดที่มีทั้งอุปสรรค และ โอกาส
เอ็มจี ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกตลาด อีวี ยุคเติบโต จากการเป็นค่ายแรกที่เริ่มต้นทำตลาดรถในตลาดแมส (mass) รุ่นแรกในไทย คือ ZS EV เมื่อปี 2562 ซึ่งมีผลให้ตลาดรวมอีวีเติบโตแบบก้าวกระโดดมาเป็นหลักพันคันต่อปี
จากนั้น เอ็มจี ก็เพิ่มสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง เพิ่มความหลากหลาย เพิ่มตัวเลือกให้กับลูกค้า
พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อีวี เป็นตลาดที่เติบโต จึงได้รับความสนใจจากผู้ทำตลาดจำนวนมาก แต่การเติบโตของตลาดที่ยังมีจำกัด และบางช่วงเวลาก็เติบโตแบบชะลอตัว ทำให้การแข่งขันรุนแรง
ดังนั้นหากทุกคนเลือกแข่งในพื้นที่เดียวกัน ก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ทางเลือกที่ดีคือ การสร้างตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง
เช่น การเปิดตัวรถรุ่นล่าสุด MG Maxus 9 ที่วางให้เป็นรถลักชัวรี่ e-MPV ซึ่งตั้งแต่เปิดรับจองในงาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด โดยตัวเลขเมื่อสิ้นสุดเดือน เม.ย. มียอดจองกว่า 1,500 คัน
ส่วนการส่งมอบ อีวี ทุกรุ่นถึงมือลูกค้ามีมากกว่า 1 หมื่นคัน
โดยปัจจุบัน เอ็มจี มีอีวีให้เลือกถึง 5 รุ่น ที่มีบุคลิกแตกต่างกันไป ได้แก่ MG ZS EV, MG EP, NEW MG4 ELECTRIC MG ES และ MG MAXUS 9
ที่สำคัญ หลายรุ่นตั้งราคาขายไม่เกิน 1 ล้านบาท จึงกลายเป็นแบรนด์ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้าถึง อีวี ได้ง่ายอย่างเช่น MG ZS EV อีวีรุ่นแรกของ เอ็มจี ที่มีคอนเซ็ปต์ TRULY EASY ออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน สะดวกสบาย มีสมรรถนะการขับขี่ และเทคโนโลยีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการขับขี่ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งด้วยความเป็นรถเอสยูวี จึงใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ มีราคาเริ่มต้น 949,000 บาท
MG EP รถสเตชันวากอนรุ่นแรกของ เอ็มจี มีจุดขายที่ความคุ้มค่า และลดภาระในเรื่องของการบำรุงรักษาด้วยค่าบำรุงรักษาตามระยะทางตลอด 5 ปี หรือ 1 แสนกม. มักจะถูกเลือกให้เป็นรถรับจ้างสาธารณะ รถองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ด้วยราคาที่เข้าถึงง่าย 771,000 บาท
MG4 ELECTRIC จับตลาดผู้ที่ชื่นชอบการขับรถ ชอบอารมณ์สปอร์ต กับระบบขับเคลื่อนล้อหลัง การกระจายน้ำหนักแบบ 50:50 จุดศูนย์ถ่วงต่ำ และเอ็มจี ยังชูจุดเด่นคือ แพลตฟอร์มใหม่ NEBULA PURE ELECTRIC ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับ อีวี โดยเฉพาะ และมีราคาเริ่มต้น 869,000 บาท
MG ES รถสเตชันวากอนรุ่นที่ 2 แต่ตลาดไม่ทับซ้อน กับ EP แต่ยังคงความโดดเด่นคือ พื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง ฟังก์ชันการใช้งานที่ให้ความสะดวกสบาย ตามคอนเซ็ปต์ “COMFORTABLE” ราคา 959,000 บาท
และ MG MAXUS 9 ที่ เอ็มจี ถือเป็นรายแรก ที่เปิดน่านน้ำใหม่ด้วยรถไฟฟ้าแบบ 7 ที่นั่ง โดบเบาะแถวที่สองแบบ Captain Seat ปรับด้วยไฟฟ้า 12 ทิศทาง ควบคุมและสั่งการผ่านหน้าจอทัชสกรีน ที่พิงศีรษะปรับด้วยไฟฟ้า ที่พักน่องปรับเอนได้อัตโนมัติ มีระบบบันทึก ระบบนวด และสามารถปรับระดับอุณหภูมิได้ตามความต้องการ พร้อมโต๊ะที่สามารถพับเก็บได้ ราคาเริ่มต้น 2.499 ล้านบาท
ขณะเรื่องของเครือข่ายสถานีชาร์จ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดอีวี เอ็มจี ขยายตัว เพราะการวางโครงข่ายทั่วประเทศทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะสามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้สะดวก
โดยปัจจุบันสถานี MG SUPER CHARGE เปิดให้บริการ 140 แห่ง ทั่วประเทศ ถือเป็นแบรนด์ผู้จำหน่ายรถไฟฟ้าที่เอาจริงเอาจังในด้านสถานีชาร์จมากที่สุด โดยยังคงเดินหน้าสร้าง EV ECOSYSTEM ให้แข็งแกร่งเพื่อให้เกิดสังคมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ และยั่งยืน และที่สำคัญก็คือ เอ็มจี มีแผนที่จะขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องในอนาคต
“ปัญหาการรอ การแย่งที่ชาร์จ เป็นปัจจัยลบให้คนที่อยากได้ อีวี ชะลอการซื้อ ดังนั้นหากแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ สร้างอีวี อีโค ซิสเทมได้ ก็จะช่วยให้ลูกค้ามีความมั่นใจ และตลาดขยายตัวในอนาคต”