เปิดเบื้องลึก ‘ไทย - สิงคโปร์’ ขึ้นแท่นผู้นำตลาด EV อาเซียน
จากกระแสความต้องการรถ EV พุ่งสูงในภูมิภาคอาเซียน “ไทย” และ “สิงคโปร์” กลายเป็นผู้นำด้านยอดขาย EV ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะรถ EV ส่วนบุคคลที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้รถ น่าจับตาว่าแนวโน้มในอนาคตจะสดใสมากน้อยเพียงใด
Key Points
- ยอดขายรถ EV ส่วนบุคคลในอาเซียนปี 2565 เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2564 เป็นเกือบ 51,000 คัน คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของยอดขายรถทั้งหมด
- สิงคโปร์มีสถานีชาร์จ EV ครอบคลุมที่สุดในอาเซียนอยู่ที่รถ EV 5 คันต่อสถานีชาร์จในปี 2565 เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่รถ EV 10 คันต่อสถานีชาร์จ
- ไทยมีส่วนแบ่งยอดขายรถ HEV อยู่ที่ 14% มากที่สุดในอาเซียนปี 2565 และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งสูงถึง 50% ภายในปี 2574 มากที่สุดในภูมิภาคเช่นกัน
จากผลสำรวจของดีลอยท์ (Deloitte) บริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของโลก เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า คนไทยพร้อมเปลี่ยนรถคันใหม่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากถึง 31% ซึ่งนับเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตามมาด้วยเวียดนาม 19% และสิงคโปร์ 13%
ความนิยมรถ EV ในไทย ยังสอดคล้องกับงานวิจัยของ BloombergNEF (BNEF) หน่วยงานวิจัยข้อมูลโภคภัณฑ์และการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ระบุว่า “ไทย” และ “สิงคโปร์” ถือเป็นผู้นำ EV ที่โดดเด่นของอาเซียน
เมื่อเร็วๆ นี้ BloombergNEF จัดงานแนวโน้มความต้องการ EV ในภูมิภาคอาเซียนของปี 2566 ซึ่งบรรยายโดย “แอลเลน ทอม อับราฮัม” (Allen Tom Abraham) ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ “ซีซี ถัง” (Sisi Tang) หัวหน้าฝ่ายน้ำมันขั้นปลายและปิโตรเคมี โดยเนื้อหาในงานมีประเด็นที่น่าสนใจ สำหรับสถานการณ์รถ EV ในปัจจุบัน ดังนี้
- แอลเลน ทอม อับราฮัม (เครดิต: ทวิตเตอร์ Allen Tom Abraham) -
- “ไทย-สิงคโปร์” ผู้นำยอดขาย EV ส่วนบุคคล
อับราฮัม เปิดเผยว่า สำหรับยอดขาย “รถ EV ส่วนบุคคล” ในอาเซียนปี 2565 เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2564 เป็นเกือบ 51,000 คัน คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของยอดขายรถทั้งหมด
เมื่อดูที่ยอดขายรถ EV ส่วนบุคคล 51,000 คันนี้ จะพบว่า ราว 33,000 คันเป็นรถ EV แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) และราว 18,000 คันเป็นรถ EV ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ที่ใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า โดยยอดขาย BEV 33,000 คันนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ราว 5,000 คัน
นอกจากนี้ “ไทย” และ “สิงคโปร์” ยังขึ้นมาเป็นผู้นำยอดขายรถ EV ในตลาดอาเซียน โดยครองสัดส่วนยอดขายรถ EV ส่วนบุคคล 5% และ 13% ตามลำดับ ของยอดขายรถส่วนบุคคลทั้งหมด
- ไทยและสิงคโปร์กลายเป็นผู้นำด้านยอดขายรถ EV ส่วนบุคคล มากที่สุดในอาเซียน (เครดิต: BloombergNEF) -
หากนับจากยอดขายรถ EV ส่วนบุคคลเป็นจำนวนคัน พบว่า ไทยมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2562-2565 ดังนี้
ปี 2562 ไทยมียอดขายรถ EV ส่วนบุคคลราว 6,800 คัน
ปี 2563 ไทยมียอดขายรถ EV ส่วนบุคคลราว 7,200 คัน
ปี 2564 ไทยมียอดขายรถ EV ส่วนบุคคลราว 9,000 คัน
ปี 2565 ไทยมียอดขายรถ EV ส่วนบุคคลราว 21,000 คัน ครองยอดขายรถ EV ส่วนบุคคลมากที่สุดในอาเซียน
อับราฮัมให้ความเห็นว่า เหตุผลที่ไทยมีการเติบโตด้านรถ EV ที่รวดเร็วเช่นนี้ เป็นเพราะรัฐบาลไทยได้ใช้นโยบายอุดหนุนเงิน และลดภาษีสำหรับบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตรถ EV ในไทย ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตรถ EV ไม่ว่าจะเป็น BYD, Great Wall Motors, MG Motor, Hyundai ฯลฯ ต่างเข้ามาลงทุนในไทย
- “สิงคโปร์” สถานีชาร์จ EV ครอบคลุมสุด
ในการนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์นั้น สิ่งที่สำคัญไม่แพ้รถ EV คือ สถานีชาร์จแบตเตอรี่ EV เปรียบเหมือนแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่ดีต้องมาพร้อมเครือข่ายผู้ใช้งานที่กว้างขวาง ถึงจะทำให้แอปนั้นอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การมีรถ EV พร้อมสถานีชาร์จที่เข้าถึงง่าย ก็จะทำให้ผู้คนเปลี่ยนใจจากรถใช้น้ำมันเป็นรถ EV ได้ง่ายขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การที่ทั้งไทยและสิงคโปร์มีสถานีชาร์จจำนวนมาก จึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองประเทศโดดเด่นด้าน EV ในอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ ซึ่งมีสถานีชาร์จ EV ครอบคลุมที่สุดในอาเซียน อยู่ที่รถ EV 5 คันต่อสถานีชาร์จในปี 2565 เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่รถ EV 10 คันต่อสถานีชาร์จ
ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่มีสถานีชาร์จ EV ครอบคลุมที่สุดรองจากสิงคโปร์ มีดังต่อไปนี้
จีน: รถ EV 8 คันต่อสถานีชาร์จ
ญี่ปุ่น: รถ EV 14 คันต่อสถานีชาร์จ
ไทย: รถ EV 16 คันต่อสถานีชาร์จ
อินโดนีเซีย: รถ EV 19 คันต่อสถานีชาร์จ
สหรัฐ: รถ EV 21 คันต่อสถานีชาร์จ
สหราชอาณาจักร: รถ EV 22 คันต่อสถานีชาร์จ
เยอรมนี: รถ EV 25 คันต่อสถานีชาร์จ
มาเลเซีย: รถ EV 45 คันต่อสถานีชาร์จ
อย่างไรก็ตาม อับราฮัม กล่าวว่า หากนับเฉพาะจำนวนสถานีชาร์จ EV ไทยมีจำนวนมากที่สุดในอาเซียน โดยในปี 2565 ภูมิภาคอาเซียน (ยกเว้นเวียดนาม) มีสถานีชาร์จ EV มากกว่า 6,700 จุด ไทยครองอันดับ 1 มีสถานีชาร์จมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 37% ของสถานีชาร์จทั้งภูมิภาค
แนวโน้มอนาคต EV ปี 2570-2593
ด้าน BloombergNEF ได้ทำการคาดการณ์แนวโน้มรถ EV ในอนาคตของอาเซียน ปี 2570-2593 โดยปี 2593 ถือเป็นปีแห่งเป้าหมายของหลายประเทศที่จะทำให้กิจการทางเศรษฐกิจไปสู่ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” (Net-Zero Emissions) ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวถือเป็นเส้นทางที่เป็นไปได้ มีรายละเอียดดังนี้
- ภายในปี 83 เกือบ 2 ใน 3 รถส่วนบุคคลจะเป็น EV
ท่ามกลางประชากรที่เพิ่มขึ้นในอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ยอดขายรถส่วนบุคคลต่อปีในภูมิภาคอาเซียน จาก 2.5 ล้านคันในปี 2565 สู่ 4.6 ล้านคันในปี 2583
ขณะที่ส่วนแบ่งยอดขายรถส่วนบุคคลปี 2565 ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งคิดเป็นกว่า 75% ของยอดขายรถในอาเซียน จะลดลงเป็น 61% ในปี 2583
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองที่ภาพรวมยอดขายรถ EV ส่วนบุคคลในอาเซียน พบว่า จากจำนวนประมาณ 51,000 คันในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 500,000 คันในปี 2573 และเป็น 2.9 ล้านคันในปี 2583 โดยรถ EV อาจเข้ามาครองสัดส่วน 14% ในปี 2573 และ 64% ในปี 2583 ของยอดขายรถส่วนบุคคลทั้งหมดในอาเซียน
- ไทย-สิงคโปร์ ผู้นำรถ EV อาเซียน
เนื่องด้วยไทย และสิงคโปร์ได้รับการสนับสนุนทางนโยบายด้าน EV อย่างมากจากรัฐบาล มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐาน EV ที่ครอบคลุม จึงส่งผลให้ทั้งไทย และสิงคโปร์ ขึ้นมาเป็นผู้นำรถ EV แห่งอนาคตของอาเซียน
สำหรับยอดขายรถ EV แบบไฮบริด (HEV) ในอาเซียน อับราฮัม คาดการณ์ว่า จะพุ่งแตะระดับสูงสุดที่จำนวนกว่า 840,000 คันต่อปีในปี 2577 และค่อยๆ ลดลงเป็น 679,000 คันในปี 2583
ส่วนในไทยมีส่วนแบ่งยอดขายรถ HEV อยู่ที่ 14% มากที่สุดในอาเซียนปี 2565 และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งสูงถึง 50% ภายในปี 2574 มากที่สุดในภูมิภาคเช่นกัน และจากนั้นก็อาจค่อยๆ ลดลงสู่ระดับ 21% ในปี 2583
ขณะที่อินโดนีเซีย แม้ในปี 2565 ยอดขายรถ HEV มีสัดส่วนต่ำกว่า 1% ของรถส่วนบุคคล แต่ในปี 2579 ตัวเลขน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่สัดส่วนราว 24% และลดลงเป็น 21% ในปี 2583 หรือเท่ากับไทยในปีนั้น
- ส่วนแบ่งยอดขายรถ EV ส่วนบุคคลของไทย และสิงคโปร์ที่โดดเด่นในอาเซียน (เครดิต: BloombergNEF) -
นโยบายส่งเสริม EV ในแต่ละประเทศ
ด้าน BloombergNEF ได้ระบุกรอบเป้าหมายนโยบายรถ EV ของแต่ละประเทศในอาเซียน พร้อมแสดงความเห็นต่อนโยบายว่า มีแนวโน้มที่จะไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้มากน้อยเพียงใด
- อินโดนีเซีย
- เป้าหมาย: ภายในปี 2573 จำนวนรถ EV ส่วนบุคคลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคัน
- ภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้น: จำนวนรถ EV ส่วนบุคคล 500,000 คัน
- ความเห็นจาก BNEF: นโยบายยังไม่อยู่ในเส้นทางที่จะไปสู่เป้าหมาย
- มาเลเซีย
- เป้าหมาย: ภายในปี 2583 ยอดขายรถ EV ส่วนบุคคลมีสัดส่วน 38%
- ภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้น: ยอดขายรถ EV ส่วนบุคคลมีสัดส่วน 64%
- ความเห็นจาก BNEF: เป้าหมายรัฐบาลยังไม่ท้าทายเพียงพอ
- ฟิลิปปินส์
- เป้าหมาย: ภายในปี 2583 สัดส่วนการจัดหารถ EV ต่อปี ในกรณีที่เอื้อต่อภาคธุรกิจจะอยู่ที่ 10% และในกรณีที่เดินหน้าสู่พลังงานสีเขียวเต็มรูปแบบจะมีสัดส่วน 50%
- ภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้น: ยอดขายรถ EV ส่วนบุคคลมีสัดส่วน 51% ของยอดขายรถทั้งหมด
- ความเห็นจาก BNEF: เป้าหมายรัฐบาลยังไม่ท้าทายเพียงพอ
- สิงคโปร์
- เป้าหมาย: ภายในปี 2583 ส่วนแบ่งรถ EV และรถไฮบริดส่วนบุคคลในตลาดรถ จะมีสัดส่วน 100%
- ภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้น: ส่วนแบ่งรถ EV ส่วนบุคคลมีสัดส่วน 73% และส่วนที่เหลือเป็นประเภทรถ EV แบบไฮบริด
- ความเห็นจาก BNEF: นโยบายอยู่ในเส้นทางไปสู่เป้าหมาย
- ไทย
- เป้าหมาย: ภายในปี 2573 ส่วนแบ่งยอดขายรถ EV ส่วนบุคคล จะมีสัดส่วน 50%
- ภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้น: ส่วนแบ่งยอดขายรถ EV ส่วนบุคคลมีสัดส่วน 28%
- ความเห็นจาก BNEF: นโยบายเกือบอยู่ในทิศทางเหมาะสม โดยอาจบรรลุเป้าหมายภายในปี 2577
- เวียดนาม
- เป้าหมาย: ภายในปี 2583 รถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะถูกแทนที่ด้วยรถ EV และพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดที่เข้ามาวางจำหน่ายในตลาดแทน
- ภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้น: ส่วนแบ่งรถ EV ส่วนบุคคลมีสัดส่วน 67%
- ความเห็นจาก BNEF: การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เป้าหมายยังคงต้องใช้ความพยายามมากขึ้น
โดยสรุป ท่ามกลางกระแสรถ EV ที่ร้อนแรงในภูมิภาคอาเซียนขณะนี้ ทั้ง “ไทย” และ “สิงคโปร์” ได้ขึ้นสู่ผู้นำในตลาดรถ EV สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากรัฐบาล เงินอุดหนุน การลดหย่อนภาษี และแนวโน้มที่ผู้คนหันมาตระหนักประเด็นโลกร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ไทยเป็นฐานอันน่าดึงดูดสำหรับบรรดาผู้ผลิต EV
นอกจากไทยแล้ว “สิงคโปร์” ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจับตาในอาเซียน โดยมีรัฐบาลที่สนับสนุนด้านพลังงานสะอาดอย่างเข้มแข็ง มีสถานีชาร์จ EV ครอบคลุมที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับจำนวนรถ EV ในประเทศ และมีโครงสร้างพื้นฐานด้าน EV ที่ครอบคลุม
อ้างอิง: เอกสาร Southeast Asia Road Transport Electrification Outlook 2023 โดยหน่วยงาน BloombergNEF, thansettakij
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์