EV Bus ตลาดเล็กรอโต นโยบายรัฐ ตัวเร่ง รับ Net Zero
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล แต่หากมองเจตนารมณ์ของการผลักดันทั่วโลก คือ ลดมลพิษ ลดเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นสิ่งที่หลายประเทศมุ่ง คือ ระบบขนส่งมวลชน หรือว่ารถเพื่อการพาณิชย์
ในไทย ก็เช่นกัน ทิศทางหลัก อีวี (EV) ยังคงเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล โดยปี 2565 มียอดประมาณ 1.2 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นจากหลักพันคันในปีก่อนหน้า และปีนี้เมื่อผ่านไปได้ครึ่งปี มียอดแล้วประมาณ 3 หมื่นคัน และคาดว่าตลอดปี 2566 จะมียอดถึงหลัก 5 หมื่นคัน
แต่ความสำคัญของรถขนส่งมวลชน รถเพื่อการพาณิชย์ ก็เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เพราะรถขนส่งมวลชน รองรับคนจำนวนมาก ต่างจากรถส่วนบุคคล ดังนั้นหากคนทั่วไป หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ก็ยิ่งช่วยลดการปล่อยมลพิษ และลดการใช้เชื้อเพลิงได้มาก
นอกจากนี้ทั้งระบบขนส่งมวลชน รวมถึงรถเพื่อการพาณิชย์ ต่างเป็นรถที่มีระยะทาง และระยะเวลาในการใช้งานต่อวันที่มาก ดังนั้นหากเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด ก็จะเห็นผลต่างของการลดมลพิษ และเชื้อเพลิงได้ชัดเจนมากว่ารถยนต์ส่วนบุคคล ที่ใช้งานต่อวันไม่มากนัก หากเทียบเป็นคันต่อคัน
รายงานของ BloombergNEF หรือหน่วยงานวิจัยภายใต้ Bloomberg เกี่ยวกับสถานการณ์ อีวี มีผลที่น่าสนใจก็คือ ตลาดรถบัส ที่จะเปลี่ยนจากเครื่องยนต์มาเป็น อีวี เป็นเรื่องจากจากข้อจำกัดหลายอย่าง รวมถึงต้นทุน และความยากของการเปลี่ยนแปลง
แต่ก็ยังเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่ว่าโดดเด่นอยู่ไม่กี่แห่ง โดยเฉพาะจีน และยุโรป ที่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง
โดยจีนนั้น แน่นอนเป็นที่รู้กันว่ามีความโดดเด่นในเรื่องของอีวีอย่างมาก ไม่เฉพาะรถบัส แต่รวมถึงรถอื่นๆ รวมถึงรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่อีวี และก็ยังคงครองความเป็นผู้นำอยู่ได้ในวันนี้ จากแนวนโยบายการสนับสนุนที่เข้มข้น แม้จะเริ่มผ่อนลงมาบ้างแล้วก็ตาม
ส่วนในไทย รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีขนาดตลาดที่เล็ก แม้จะมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ
โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หรือ ปี 2563 ตลาดรถบัสไฟฟ้ามีแค่ไม่กี่คัน และอยู่ในสิงคโปร์ทั้งหมด และเมื่อถึงปี 2564 เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ตลาดขยับขึ้นไปอยู่ในระดับประมาณ 200 คัน ทั้งภูมิภาค และปีดังกล่าวนี้ ไทยเพิ่งจะเข้าไปสู่ในกราฟ แต่ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญเพราะมียอดสูงกว่า 50% และสูงกว่า เวียดนามและสิงคโปร์
และล่าสุด ปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดรถบัสอีวีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กระโดดขึ้นมาถึงระดับประมาณ 1,200 คัน และหลักๆ ของตลาดอยู่ในประเทศไทย ด้วยยอด 976 คัน จากข้อมูลจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก
การเติบโตของตลาดบัส อีวี ในไทย มาจากการที่ภาครัฐอนุมัติให้เอกชนสามารถเดินรถในโดยสารเส้นทางในกรุงเทพฯ ได้ เช่น ไทยสไมล์บัส ที่ได้สิทธิวิ่ง 71 เส้นทาง และเริ่มปรับใช้รถบัสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยถึงช่วงไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 1,250 คัน
ทั้งนี้บริษัทยังระบุว่าเป็าหมายคือ จะเพิ่มจำนวนรถบัสไฟฟ้าให้ได้รวม 3,100 คัน ใน 122 เส้นทาง ภายในสิ้นปี 2566
ส่วนความเคลื่อนไหวของเพื่อนบ้าน ตามรายงานของ BloombergNEF ระบุว่า เวียดนามก็เริ่มมีจำนวนรถบัสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยผู้ขับเคลื่อนหลักคือ วินบัส ในเครือวินกรุ๊ป โดยบริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะปรับมาใช้รถบัสไฟฟ้าประมาณ 200-300 คัน ทุกปี สำหรับการให้บริการผู้โดยสาร 15 เส้นทาง ในกรุงฮานอย, โฮจิมินห์ และพูก็อก
ส่วนอีกประเทศที่เริ่มเติบโตขึ้นมา ก็คือ อินโดนีเซีย ที่ทรานส์จาการ์ต้า บริษัทขนส่งรายใหญ่ในจาการ์ต้า วางเป้าหมายว่าจะหันมาใช้รถบัสไฟฟ้าให้ได้ 1 หมื่นคัน ภายในปี 2573 ซึ่ถือเป็นการจัดหารถบัสไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในแดนอิเหนา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารถบัส อีวี ในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังเล็ก แต่ BloombergNEF ประเมินโดยอ้างอิงจากข้อมูลในปัจจุบัน (ไม่ใช่การพยากรณ์) ว่าภายในปี 2583 รถบัสที่ให้บริการในเขตเมือง 77% จะเป็นรถบัส อีวี ซึ่งจะเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นมากหากเทียบกับปี 2565 ที่มีมีแค่ 10% เท่านั้น
ส่วนรถบัสที่เหลือจะเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ และจะเริ่มเห็นรถเซลล์พลังงาน (fuelcell) เข้ามามีบทบาท โดยจะมีสัดส่วนประมาณ 5% ในปีดังกล่าว และ 2% หากนับรวมยอดสะสมของยอดขายถึงปีดังกล่าว
การขยายตัวของตลาดบัส อีวี ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายภาครัฐในประเทศต่างๆ ที่มุ่งหน้าไปสู่เรื่องของความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Net Zero ทำให้เพิ่มอัตราเร่งกับทุกๆ ส่วน รวมถึงตลาดรถบัสด้วยเช่นเดียวกัน