EV แย่งตลาดในประเทศ ส.อ.ท.ลดเป้าผลิตรถยนต์ลง 50,000 คัน
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ปรับเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2566 อยู่ที่ 1.9 ล้านคัน จากเดิม 1.95 ล้านคัน โดยลดยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลง 5 หมื่นคัน หลังรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ได้รับความนิยมต่อเนื่อง แย่งส่วนแบ่งตลาด 5% บวกกับสถาบันการเงินเข้มการปล่อยสินเชื่อ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ประมาณการปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2566 ลดลงจากเดิม 2.56% หรือ 50,000 คัน จากจำนวน 1,950,000 คัน เป็น 1,900,000 คัน โดยปรับเฉพาะยอดการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงจาก 900,000 คัน เหลือ850,000 คัน หรือลดลง 5.56% ขณะที่คงเป้าการผลิตเพื่อส่งออกที่ 1,050,000 คัน
โดยเมื่อพิจารณายอดการผลิตรถยนต์ในเดือนมิ.ย. 2566 มีทั้งสิ้น 145,557 คัน เพิ่มขึ้น 1.78% จากปีก่อน รวม 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย.2566) อยู่ที่ 921,512 คัน เพิ่มขึ้น 5.91% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 57% จากปกติอยู่ที่ 54%
ยอดขายอีวีแย่งส่วนแบ่งตลาด
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้มีการปรับลดเป้าการผลิตในประเทศมาจากความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ใช้น้ำมันมากกว่า 5% ซึ่งรถอีวีเป็นรถนำเข้าและไม่มีการผลิตในประเทศ
โดยในเดือนมิ.ย. 2566 มียอดจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) รถยนต์นั่งไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (BEV) 7,627 คัน คิดเป็นสัดส่วน 12.75% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งทั้งหมด เมื่อรวมยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง BEV 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.2566) อยู่ที่ 31,517 คัน ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2566 จะมียอดจดทะเบียนอีวีจะอยู่ 60,000-80,000 คัน เกินกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงสิ้นปีที่แล้ว โดยขึ้นอยู่กับการนำเข้ารถอีวีราคาถูกจากจีนในช่วงครึ่งปีหลังว่าจะมีมากเพียงใด
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างมากหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV3) ซึ่งทำให้ราคาซื้อรถอีวีถูกกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน รวมทั้งยังส่งเสริมให้มีการลงทุนผลิตรถอีวีในประเทศ อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในปีนี้ โดยต้องจับตาว่ามาตรการ (EV3.5) ที่คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มีมติเสนอรัฐบาลใหม่ให้สนับสนุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่และการผลิต 13 ชิ้นส่วนอีวีในประเทศ รวมถึงเงินอุดหนุนผู้ซื้อ ซึ่งหากไม่ต่อเนื่องก็อาจจะกระทบต่อการนำเข้าอีวีเพื่อมาจำหน่ายในปีหน้า รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้ผลิตรถอีวีที่จะมาลงทุนในไทย
“ผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะยังคงสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่องตามแนวทางที่บอร์ดอีวีวางไว้ เพราะไทยเองมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน”
เข้มปล่อยสินเชื่อรถกระบะ
นอกจากนี้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น คิดเป็น 90.6% ของจีดีพี ทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ ส่งผลให้ยอดขายรถกระบะในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง บวกกับภาวะการส่งออกไทยที่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ทำให้หลายอุตสาหกรรมลดการทำงาน คนทำงานขาดรายได้ทำให้อำนาจซื้อลดลง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นและค่าครองชีพที่ขยับเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนต้องระมัดระวังการใช้จ่าย
โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือน มิ.ย.2566 อยู่ที่ 64,440 คัน ลดลง 5.16% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงของรถกระบะและรถบรรทุกที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2566) มียอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่406,131 คัน ลดลง 4.95% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ตลาดส่งออกรถยังโต
สำหรับยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนมิ.ย.2566 อยู่ที่ 88,826 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.22% จากการผลิตรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 27.57% และรถ PPV เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 96.51% จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียและโอเชียเนียตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ มูลค่าการส่งออก 55,925.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.72% จากปีก่อน ส่งผลให้ยอดการส่งออกรถยนต์ 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.2566) อยู่ที่ 528,816 คัน เพิ่มขึ้น 17.61% รวมมูลค่าส่งออก 6 เดือน อยู่ที่ 443,350.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.26% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
“แม้ว่าการส่งออกไทยในภาพรวมจะติดลบแต่การส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศคู่ค้าหลักยังเติบโตได้ดี ทั้งตลาดออสเตรเลียเอเชีย และตะวันออกกลางที่ยังมียอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยส.อ.ท. มั่นใจว่าการผลิตเพื่อส่งออกจะเป็นไปตามเป้าที่ 1,050,000 คัน ยกเว้นจะเกิดความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงที่ทำให้การค้าโลกต้องเกิดการหยุดชะงัก”